ศัพท์ยอดนิยมในวงการธุรกิจยุคนี้คงหนีไม่พ้นคำว่า “นวัตกรรม” และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ล้วนแต่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด เพราะก่อนจะเกิดเทคโนโลยีที่นำไปใช้ได้ ก็ต้องเกิดนวัตกรรมขึ้นมาก่อน
“วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาประเทศ นี่คือความเชื่อของ “สถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology) หรือในชื่อย่อว่า VISTEC ที่มาจากความตั้งใจขององค์กรด้านพลังงานอย่างกลุ่ม ปตท. ที่ต้องการมีส่วนช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
สถาบันแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ (Education Zone) ในเมืองแห่งนวัตกรรม Smart City วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ด้วยความตั้งใจให้มีสถาบันอุดมศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก เน้นบ่มเพาะคนที่มีศักยภาพด้านการทำวิจัยโดยเฉพาะ
ก่อนจะพาไปรู้จักผลงานวิจัยอันน่าทึ่งของสถาบันฯ หลายคนคงอยากรู้ว่าที่นี่มีหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง และมุ่งทำงานพัฒนาด้านอะไรกันบ้าง
สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ในหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาโทและปริญญาเอก มุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้า (Frontier Research) ในระดับสากล ปัจจุบันเปิดสอน รวมทั้งสิ้น 4 สำนักวิชา ได้แก่
หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าแต่ละสาขาของสถาบันวิทยสิริเมธี เน้นเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สะท้อนจากงานวิจัยของ VISTEC ที่ต้องบอกว่ามีความพยายามในการช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมได้แบบตรงจุด และนี่คือผลงานที่ได้รับการยอมรับ
VISTEC ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติทั้งในด้านผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับโลก และได้รับการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ Nature Index (www.natureindex.com) ให้เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยในด้านเคมี (Chemical sciences), วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life sciences) และวิทยาศาสตร์รวมทุกสาขา (All sciences)
เป็นอันดับ 2 ในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical sciences) ได้รับการจัดอันดับ 3 ด้านเคมี (Chemical sciences) ในระดับ ASEAN (ข้อมูล ณ วันที่ 14 กันยายน 2565) รวมถึงได้รับการจัดอันดับที่ 12 ของมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ก่อตั้งมาไม่เกิน 30 ปี อีกด้วย
นอกจากนี้ VISTEC ด้วยวิสัยทัศน์ที่เล็งเห็นความสำคัญของการนำผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าเข้าสู่การพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จึงได้จัดตั้งนิติบุคคลภายใต้ชื่อ บริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP Company Limited) ทำหน้าที่บ่มเพาะและผลักดันให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) แบบเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology)
ปัจจุบันมีโครงการที่จัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้ว คือ บริษัท วิสัย เอไอ จำกัด (VISAI Company Limited) ผลิตภัณฑ์หลักคือการพัฒนาแพลตฟอร์มทางปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับบุคคลทั่วไป และในอนาคต VISUP มีแผนผลักดันให้เกิด Startup อีกอย่างน้อย 3 โครงการภายในปี 2025
สำหรับหัวข้องานวิจัยโดดเด่น ในปี 2565 นี้ VISTEC ได้ผลิตและพัฒนาผลงานวิจัยที่มีความสำคัญ และมีความสอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ
AI and Robotics จากสำนักวิชาวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) วิจัยระบบปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เช่น งานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถปรับใช้ในงานด้านต่างๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านระบบ AI ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ในการใช้งานที่หลากหลายโดยใช้ฐานข้อมูลที่น้อยลง มาใช้แก้ปัญหาใหม่ที่ข้อมูลหายากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง ได้แก่ การพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ซับซ้อน เข้าถึงยากและอันตรายในภาคอุตสาหกรรม
ยังมีงานวิจัยระบบต้นแบบเทคโนโลยีหุ่นยนต์ฝึกเดินเสมือนจริงอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการศึกษาการควบคุมการทำงานของระบบหุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ที่มีข้อมูลป้อนกลับจากสัญญาณชีวภาพและชีวกลศาสตร์ เช่น สัญญาณคลื่นสมอง, สัญญาณการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยการประมวลผลผ่านแบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม ระบบสามารถปรับตัวทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูการเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานแต่ละบุคคล
Energy, Materials & Environment จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE) และสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE) เน้นงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน พัฒนาแบตเตอรี่และวัสดุคุณภาพภาพสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ทั้งในด้านของวัสดุที่ใช้ทำขั้วบวกและขั้วลบ การสร้างสารละลายอิเล็กโตรไลต์ชนิดใหม่ที่มีความเสถียรและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
งานวิจัยด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยานาโนยุคใหม่จากขยะหรือสารไร้มูลค่าเพื่อประยุกต์ในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ รวมทั้งอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและยา นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสารที่มีมูลค่าสูง เช่น สารนำพาประจุในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน รวมถึงการเปลี่ยนให้เป็นพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษขั้นสูงและสารดูดซับขั้นสูงที่มีรูพรุนพิเศษเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน รวมถึงการพัฒนาวัสดุโปร่งใสที่สามารถเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า (Luminescent solar concentrator: LSC) อีกด้วย
Biotechnology จากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) เน้นด้านการพัฒนาด้านเซลล์และเอนไซม์ในระดับสูงเพื่อใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการแพทย์ และการเพิ่มมูลค่าของขยะอินทรีย์ โดยมีงานวิจัย เช่น การพัฒนางานวิจัยด้านชีววิทยาสังเคราะห์ เพื่อออกแบบและสร้างเทคโนโลยีชีวภาพในระดับเซลล์ขึ้นมาใหม่ รวมถึงวิศวกรรมโปรตีน (Protein Engineering) ทำการสร้างเอนไซม์ชนิดใหม่เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นประโยชน์และก่อให้เกิดสารมีมูลค่าเพิ่ม เช่น ฮอร์โมนพืชภายใต้ชื่อ BioVis งานวิจัยด้านการใช้สารชีวภาพโดยเฉพาะเอนไซม์ที่มีความจำเพาะต่อสารที่ต้องวิเคราะห์อย่างสูง เพื่อวัดปริมาณการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
เน้นการสร้างอุปกรณ์ต้นแบบและนวัตกรรมทางเคมีไฟฟ้าหรือการเปล่งแสงเพื่อการประยุกต์ใช้งานได้จริง รวมถึงการศึกษาโครงสร้างของเอนไซม์เฉพาะทางเพื่อสร้างผลิตผลที่มีมูลค่าสูง เช่น ความสามารถในการเพิ่มผลิตผลของน้ำตาลที่เกิดได้ยากและมีราคาสูง สำหรับตลาดเคมีภัณฑ์ และการพัฒนาโครงสร้างของอนุพันธุ์ไคโตโอลิโกแซคคาร์ไรด์ที่มีฤทธิ์เป็นยาต้านจุลชีพใหม่ เป็นต้น
แน่นอนว่าการจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้นั้น หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญมากคือ “คน” สถาบันฯเป็นแหล่งสร้างคน ให้มีความรู้ ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่ดี และยังนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางระดับโลก
สำหรับข้อมูลจำนวนนิสิตที่การเข้าศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ของสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2015 – 2021 รวม 327 คน ขณะที่ข้อมูลจำนวนนิสิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ตั้งแต่ปี 2017-2021 รวม 50 คน นิสิตทุกคนได้รับทุนการศึกษา นิสิตที่มีความสามารถเป็นเลิศจะได้รับทุนเพิ่มขึ้นในรูปของทุนพระราชทานศรีเมธี ซึ่งประจำปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 8 คน และกำลังจะมอบแก่ผู้รับทุน ประจำปี 2564 อีก 6 คน เป็นการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูง
“นวัตกรรม” เป็นเรื่องที่ทั่วโลกพูดถึงกันเป็นวงกว้าง เพราะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นเครื่องมือสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงแก้วิกฤตการณ์แห่งความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย มีหลายภาคส่วนลงแรงแข็งขันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เส้นชัยกับการเป็น “ชาติแห่งนวัตกรรม” หนึ่งในนั้นก็คือ VISTEC ที่มุ่งมั่น ตั้งใจ ยกระดับการเป็นสถาบันฯ ชั้นแนวหน้า ที่บ่มเพาะบุคคลกรของชาติให้สร้างสรรค์และผลิตนวัตกรรมออกมาอย่างดีที่สุด