เปิดปีงบประมาณ 2568 สถานการณ์การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ดูค่อนข้างเป็นไปอย่างคึกคัก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.รายงานว่า เดือนตุลาคม 2567 การซื้อขายคาร์บอนเครดิตแยกตามประเภทโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ภายใต้การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter : OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง
มีปริมาณซื้อขาย อยู่ที่ 46,955 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) คิดเป็นมูลค่าซื้อขาย 9,661,100 บาท จาก 19 โครงการ ใน 3 ประเภทโครงการ ได้แก่ 1.ประเภทการจัดการขยะมูลฝอย 1 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 40 tCO2eq คิดเป็นมูลค่า 4,000 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 100 บาทต่อตัน
2.ประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการย่อยประเภทการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในระดับโครงการ (P-REDD+) มี 7 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 4,733 tCO2eq คิดเป็นมูลค่า 7,099,500 มีราคาเฉลี่ยที่ 1,500 บาทต่อตัน
จากประเภทป่าไม้ 1 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 2,190 tCO2 eq คิดเป็นมูลค่า 875,000 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 399.54 บาทต่อตัน และการกักเก็บคาร์บอนและลดการปล่อย GHG สำหรับพืชเกษตรยืนต้น 1 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 10 tCO2 eq คิดเป็นมูลค่า 10,000 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 1,000 บาทต่อตัน
3.ประเภทพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จากชีวมวล 5 โครงการ รวมปริมาณการซื้อขาย 28,752 tCO2eq คิดเป็นมูลค่า 1,062,855 บาท มีราคาเฉลี่ย 36.97 บาทต่อตัน โดยมีโครงการผลิตพลังงานความร้อนจากชีวมวล ขนาด 133.6 เมกะวัตต์ โดยมิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ ภูเขียว (ส่วนที่ 2) ถือเป็นส่วนสำคัญในการซื้อขายครั้งนี้ และจากพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ ปริมาณการซื้อขาย 11,230 tCO2 eq คิดเป็นมูลค่า 609,745 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 54.30 บาทต่อตัน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยในเดือนตุลาคม 2567 นี้ ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากมาอยู่ที่ 205.75 บาทต่อตัน เมื่อเทียบกับราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ยทั้งปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 125.05 บาทต่อตัน หรือเห็นได้จากเดือนกันยายน 2567 การซื้อขายคาร์บอนเครดิต จากพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จากพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ที่ 47.60 บาทต่อตัน ประเภทป่าไม้เฉลี่ยที่ 312.21 บาทต่อตัน เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการคาร์บอนเครดิต จากประเภทประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตร (P-REDD+) มีความต้องการมากขึ้น จึงส่งผลให้ราคาคาร์บอนเครดิตมีราคาสูงกว่าจากประเภทป่าไม้ทั่วไป
ประกอบกับราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศ ปรับตัวสอดคล้องกับทิศทางของราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากมีความชัดเจนในการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และมีการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ นับจากปีงบประมาณ 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตราว 3,535,018 tCO2eq คิดเป็นมูลค่าการซื้อขาย 313,819,046 บาท ขณะที่การซื้อขายผ่าน Exchange Platform FTIX มีปริมาณ 13,665 tCO2eq คิดเป็น
มูลค่าการซื้อขาย 727,204 บาท ปัจจุบันมีการรับรองคาร์บอนเครดิตแล้วปริมาณ 20,499,603 tCO2eq มีการชดเชยคาร์บอนเครดิตแล้ว 1,920,076 tCO2eq ส่งผลให้ยังมีคาร์บอนเครดิตที่เหลืออยู่ตลาดราว 18,579,527 tCO2eq
ปัจจุบันมีโครงการที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตแล้ว 468 โครงการ มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้13,492,284 tCO2eq/ปี ในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต 175 โครงการ อยู่ระหว่างรอการรับรอง 258 โครงการ และสิ้นสุดโครการแล้ว 60 โครงการ
ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ได้ขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มูลค่า 7.5 ล้านหยวน ให้กับนักลงทุน ที่เป็นผลจากการบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
รวมทั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 618 เมกะวัตต์ ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วม เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเติมด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง