นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย โครงการโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่มีความล่าช้าว่า ทางกมธ.การพลังงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงความคืบหน้าของโครงการหลายครั้ง ทั้งตัวแทนจาก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาชี้แจงข้อมูลแต่ยัง ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ
ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งรัดการพิจารณาโครงการ โดยเห็นว่ากระทรวงมหาดไทย ควรลดขั้นตอนการพิจารณาให้สอดคล้องกับวาระการดำรงตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่ควรพิจารณาอนุมัติเป็นรายกลุ่ม ก่อนเสนอให้กระทรวงพลังงาน โดย กกพ.พิจารณา และกระทรวงมหาดไทย โดยควรปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาให้คำนึงถึงความพร้อม และความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการแต่ละแห่งเป็นหลัก เพื่อให้พิจารณาอนุมัติทำได้ให้เร็วขึ้น
“กระทรวงมหาดไทยควรทยอยส่งโครงการให้ กกพ. พิจารณาสำหรับโครงการที่มีความพร้อม ทั้งด้านสถานที่ตั้ง ความพร้อมด้านเทคโนโลยี กฎหมายผังเมือง เงินทุนจดทะเบียน หนังสือรับรองจากธนาคาร เพื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ ลงนามทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยไม่ควรเสนอโครงการเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อ กกพ.ได้พิจารณาได้เร็วขึ้น” นายกิตติกร กล่าว
ทั้งนี้ปัจจุบันมีโครงการฯที่เห็นชอบประกาศรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 จำนวน 34 โครงการ และเพิ่งมาประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานขยะเพิ่มเติมในปี 2565 อีก 21 โครงการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่าต้องรอให้กระทรวงพลังงาน กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่
เรื่องนี้กมธ.เห็นว่าไม่ควรถามกลับไปกลับมา ควรใช้ราคาเดิม (8 บาทต่อหน่วย) ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ประกาศไปเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565 ซึ่งกระทรวงมหาดไทยไม่ควรสอบถามกลับไปยังกระทรวงพลังงาน เพราะหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยคือการพิจารณาโครงการว่าถูกต้องตามระเบียบเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ เมื่อโครงการมีความพร้อมได้เสนอให้กระทรวงพลังงาน โดย กกพ. พิจารณาต่อไปจะได้ไม่ล่าช้า
ด้าน นายธารา ปิตุเตชะ รองประธาน กมธ.การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และส.ส.จังหวัดระยอง กล่าวว่า เรื่องนี้กรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด แต่หน่วยงานต่าง ๆ ไม่ทำกัน ทั้งที่ปัญหาการกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล ตัวอย่างพื้นที่จังหวัดระยองมีขยะมีมากกว่า 1,200 กว่าตันต่อวัน คัดแยกใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าขยะ(RDF) ระยะที่ 1 วันละ 500 ตัน เหลืออีกวันละ 600-700 ตัน ที่ต้องนำไปฝังกลบที่บ่อขององค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ระยอง ซึ่งบ่อนี้สามารถฝังกลบขยะได้อีก 6-7 เดือนก็จะเต็มแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะหาพื้นที่ใดมาฝังกลบเพิ่มเติมได้
“ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งพิจารณาโครงการโรงไฟฟ้าขยะ ระยะที่ 2 โดยเร็วเพราะหากช้าอีกเพียงปีเดียว ขยะในจังหวัดระยองล้นเมืองแน่นอน” นายธารา กล่าว
ขณะที่ นายชูศักดิ์ วงษ์สวัสดิ์ ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ การพลังงาน และอดีตรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหาการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยการส่งเสริมให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เสนอมา แต่พบว่าโครงการที่เสนอมา การอนุมัติหรืออนุญาตมีความล่าช้ามาก ทั้งที่ภาคเอกชนที่จะเข้ามาทำโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อปท.ต่าง ๆ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพสูง ดังนั้นจึงขอให้เร่งดำเนินการ โดยทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจในบทบาท และอำนาจหน้าที่ของตัวเอง