“แอควา พาวเวอร์” จับมือปตท.-กฟผ. ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจน

26 พ.ย. 2565 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 11:12 น.

แอควา พาวเวอร์-ปตท.-กฟผ. ผนึกความร่วมมือศึกษาและลงทุนไฮโดรเจนสีเขียว มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยกำลังผลิต 2.25 แสนตันต่อปี ช่วยขับเคลื่อนไทยสู่ฐานการใช้พลังงานสะอาด สู่เป้า Net Zero Emissions ปี 2065

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง ระหว่าง บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) ผู้พัฒนา ลงทุน และผู้ดำเนินการโรงผลิตไฟฟ้า การกลั่นน้ำทะเล และผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ประเทศซาอุดีอาระเบีย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อช่วงการประชุมเอเปค 2022 ที่ผ่านมา

ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในการสนับสนุนให้ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ที่ทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันร่วมกันศึกษาโอกาสการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย

 

“แอควา พาวเวอร์” จับมือปตท.-กฟผ. ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจน

 

ทั้งนี้มีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2.52 แสนล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยน 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อตอบรับเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมถึงตอบสนองความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และศึกษาโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน

“แอควา พาวเวอร์” จับมือปตท.-กฟผ. ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจน

 

 นายแพดดี้ ปัทมานาทาน รองประธานกรรมการ บริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ ปตท. และ กฟผ. แสดงถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของซาอุดีอาระเบีย ในการสนับสนุนพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสนับสนุนและร่วมศึกษาโอกาสการลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ในประเทศไทย

 

โดยมีวิสัยทัศน์ในทิศทางเดียวกับซาอุดีอาระเบีย ส่งมอบพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและพึ่งพาได้ เป็นการส่งเสริมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับวาระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความร่วมมือกับ ปตท. และ กฟผ. ในครั้งนี้จะเป็นการวางรากฐานที่จำเป็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรม ตลอดจนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายต่อไป

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. มุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย ตามวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” ตลอดจนให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ ในการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดเพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก

 

ปตท. จึงตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 15 ภายในปี ค.ศ. 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ

 

“แอควา พาวเวอร์” จับมือปตท.-กฟผ. ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจน

 

ทั้งนี้ ความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำอย่าง บริษัท แอควา พาวเวอร์ และ กฟผ. เพื่อศึกษาและลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และเป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตให้เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้ จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยพร้อมสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน พัฒนาสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตพร้อมกันอย่างยั่งยืนได้

 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยเน้นพลังงานสะอาดที่มีความเหมาะสม ซึ่งนอกจากช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนตํ่า ในระดับประเทศอีกด้วย และความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่ผลักดันให้ไทยบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังส่งผลต่อเป้าหมายในภาพรวมของโลกด้วย