ทั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น และได้เรียกร้องให้ภาครัฐปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือเอฟที ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ลงมา เพื่อลดต้นทุนการผลิตสินค้าและลดค่าครองชีพของประชาชน เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้น และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่นำเข้ามามีแนวโน้มลดลง
เมื่อมาพิจารณาจะพบว่า ขณะนี้ราคาก๊าซแอลเอ็นจี รูปแบบ SPOT ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 18-19 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จากก่อนหน้านี้ขึ้นไปแตะที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู โดยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีแผนจะทยอยจัดซื้อแอลเอ็นจีกว่า 20 ลำ (ลำละ 6 หมื่นตัน) และจะส่งมอบในเดือนมีนาคมนี้ราว 5-6 ลำ ซึ่งจะมาทดแทนลดการใช้นํ้ามันดีเซลผลิตไฟฟ้าที่มีราคาสูงกว่า
ประกอบกับทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ส่งแผนเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) หลังเสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead platform) จำนวน 8 แท่นเป็นที่เรียบร้อย และในปี 2566 จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น และเตรียมแท่นขุดเจาะ (Rig) 6 แท่น เพื่อเร่งเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 273 หลุม ที่จะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี และในช่วงเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ตามสัญญา
อีกทั้ง ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากทุกโครงการของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย ได้แก่ โครงการบงกช โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมถึงกระทรวงพลังงาน ได้มีการเจรจาที่จะซื้อก๊าซจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ที่จะจัดส่งก๊าซฯได้ในช่วงเดือนกันยายน 2566 อีกราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า จากปัจจัยราคาก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบ SPOT ที่ปรับตัวลดลง บวกกับการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และได้อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นตัวแปรหลักที่สำคัญทำให้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมปรับตัวลดลงได้ เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงถูกลง ที่จะนำมาใช้คำนวณค่าเอฟทีในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2566
ส่วนค่าไฟฟ้าจะปรับลดลงในอัตราเท่าใดนั้นจะเห็นทิศทางในเดือนมีนาคม 2566 ว่า ปัจจัยดังล่าวจะเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะปรับตัวลดลงมา แต่ค่าไฟฟ้าจะลดลงมาตํ่ากว่า 5 บาทต่อหน่วยหรือไม่ ยังมีตัวแปรที่สำคัญที่จะต้องทยอยคืนหนี้ค่าเอฟทีที่ติดค้างให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย(กฟผ.) ในอัตรา 0.22 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่กฟผ.ต้องแบกรับภาระอยู่เกือบ 1.5 แสนล้านบาท
ประกอบกับต้องมาดูว่า รัฐบาลจะยังมีเงินงบประมาณราว 9,000 ล้านบาท มาอุดหนุนค่าไฟฟ้าที่ให้ตรึงค่าเอฟทีผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ต่อไปอีกหรือไม่
รวมถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)จะขยายเวลาที่ให้ปตท.ลดราคาก๊าซฯหลังจากเข้าโรงแยกก๊าซฯกรอบวงเงิน 6,000 ล้านบาท อีกหรือไม่ เพราะค่าไฟฟ้ารอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่สามารถตรึงค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และลดค่าไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่ 5.33 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นไปตามมติคณะกรรมการ(บอร์ด) กพช. ที่ให้จัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย หลังเข้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเป็นลำดับแรกก่อน และหากเหลือให้นำไปคำนวณรวมกับก๊าซจากเมียนมาและแอลเอ็นจีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น ๆ
ดังนั้น หาก กพช.ไม่ขยายมติดังกล่าวออกไปอีกหรือไม่มีงบประมาณมาสนับสนุน จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยปรับขึ้นมาเป็นราคาเดียวกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ ที่จะอยู่ในระดับกว่า 5 บาทต่อหน่วยได้ ถึงแม้แนวโน้มต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจะปรับลดลงก็ตาม