พลังงานปี 66 สะพัด 3 แสนล้าน ลุยลดคาร์บอนสู่ Net Zero

05 ม.ค. 2566 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2566 | 16:20 น.

“สุพัฒนพงษ์” กางแผนปี 2566 ลุยพลังงานสะอาด ตามแผนพลังงานชาติ มุ่งสู่สังคมตาร์บอนตํ่า คาดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้าน เร่งดันโรงไฟฟ้าชีวมวล ก๊าซชีวภาพ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่า กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อม ๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ ตามเป้าหมาย

 

สำหรับแผนงานสำคัญในการมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน จะกำหนดไว้ในภายใต้แผนพลังงานชาติ ที่อยู่ระหว่างจัดทำ คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งได้วางแผนงานและโครงการต่าง ๆไว้ ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3 แสนล้านบาท

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานไปสู่สังคมคาร์บอนตํ่า เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนไม่ตํ่ากว่า 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้ามา ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปีค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2065

 

“เฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ ที่จะได้ประกาศผู้ชนะในต้นปี 2566 คร่าว ๆ ก็มีเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว”

 

พลังงานปี 66 สะพัด 3 แสนล้าน ลุยลดคาร์บอนสู่ Net Zero

 

 

อีกทั้ง จัดทำแผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization และขับเคลื่อนสมาร์ทกริดของประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ระยะ 5 ปี (2565-2570) จะต้องใช้เงินลงทุนของทั้ง 3 การไฟฟาถึง 2.72 แสนล้านบาท จาก 34 โครงการ ดำเนินการปลดล็อกปรับปรุงกฎกติกาเพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่

 

ส่งเสริมการลงทุนรถ EV ตามนโยบาย 30@30 และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่มีเป้าหมายในปี 2573 จะมีหัวจ่าย Fast Charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย รวมถึงการส่งเสริมผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV ที่จะร่วมกับกรมสรรพสามิตออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568 โดยการให้เงินอุดหนุนการผลิตและการใช้แบตเตอรี่สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเสริมสร้างเศรษฐกิจด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ในเมียนมาและจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียหรือเจดีเอ เป็นต้น ซึ่งมีต้นทุนการผลิตตํ่ากว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน

 

พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเป็นผู้ลงทุน รวมถึงการบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC) ที่จะนำมาบังคับใช้กับอาคารพื้นที่ ไม่ตํ่ากว่า 2,000 ตารางเมตร คาดจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วยหรือกว่า 47,000 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี เป็นต้น ในส่วนนี้คาดว่าจะเกิดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ตํ่ากว่า 230,000 ล้านบาท

 

รวมถึงการเร่งลงทุนโรงไฟฟ้า ชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนก่อสร้าง 17,500 ล้านบาท และค่าดำเนินการและนำรุงรักษา 20,200 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้จากการขายเชื้อเพลิงตลอด 20 ปี 79,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 52,280 อัตรา และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

 

อีกทั้ง กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ ที่จะเป็นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 2.65 หมื่นล้านบาท มีโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มอัด CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026

 

โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มนํ้าเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ และโครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับกรมการพลังงานทหาร กฟผ. ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ เป็นต้น

 

“ในปี 2566 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3-4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร แต่ยังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง”