"เนสท์เล่ไอศกรีม" นำร่องซื้อพลังงานสะอาดจาก "กฟผ."

11 ก.พ. 2566 | 00:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2566 | 00:41 น.

"เนสท์เล่" ปักธงบรรลุ Net Zero ภายในปี 2050 นำร่องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในโรงงานผลิตของเนสท์เล่ทุกแห่งภายในปี 2025 เริ่มซื้อขายพลังงานทดแทนแบบเจาะจงแหล่งที่มากับกฟผ.

"เนสท์เล่" ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 หนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานด้านความยั่งยืนในประเทศไทยคือ การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ในโรงงานผลิตของเนสท์เล่ทุกแห่งภายในปี 2025  ล่าสุดกลุ่มธุรกิจเนสท์เล่ ไอศกรีม ภายใต้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เริ่มผลิตไอศกรีมโดยใช้พลังงานทดแทน 100% ภายใต้โครงการนำร่องซื้อขายพลังงานทดแทนแบบเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff) กับ กฟผ. ในปี 2023 และเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในประเทศไทย

"เนสท์เล่ไอศกรีม" นำร่องซื้อพลังงานสะอาดจาก "กฟผ."

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า เปิดเผยว่า การใช้ไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้ เป็นโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่างบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เนสท์เล่ ไอศกรีมที่โรงงานบางชันตลอดปี 2023 เพื่อส่งต่อไอศกรีมที่ดีต่อใจและดีต่อโลกให้กับคนรักไอศกรีมทั่วประเทศ และยังมีส่วนช่วยให้โลกของเราเย็นขึ้น

นอกจากการใช้พลังงานทดแทนแล้ว กลุ่มธุรกิจเนสท์เล่ ไอศกรีม ยังมีการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาทิ การเปลี่ยนไปใช้ตู้แช่ไอศกรีมที่ใช้สารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้รถสามล้อไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายไอศกรีม รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ซองไอศกรีมที่ทำจากกระดาษ 100% ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเอ็กซ์ตรีม นามะ และเนสท์เล่คิทแคท เป็นต้น

"เนสท์เล่ไอศกรีม" นำร่องซื้อพลังงานสะอาดจาก "กฟผ." พร้อมตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ข้อ 7 ในเรื่องการเข้าถึงพลังงานสะอาดราคาถูก ข้อ 12 ในเรื่องการบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ และข้อ 13 ในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน

นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ ในฐานะ Project Management Office การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอาหาร และเป็นการทดสอบกลไกการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มา (Utility Green Tariff) ในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน ระยะที่ 2 (ERC Sandbox ระยะที่ 2) เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

โดย กฟผ. จะทำหน้าที่เป็น หน่วยงานกลางการบริหารจัดการไฟฟ้าสีเขียว (Arrangement Unit) ให้บริการการบริหารจัดการกลไกการจับคู่การผลิตไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าสีเขียว (Green Energy Portfolio) ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าจริงรายวันของโรงงาน เนสท์เล่ ไอศกรีม ส่งมอบพร้อมใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ที่ตรงตามแหล่งผลิตและปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อทดสอบรูปแบบการจัดหาพลังงานไฟฟ้าสีเขียวรูปแบบใหม่ที่จะส่งเสริมและยกระดับภาคพลังงานไฟฟ้าสีเขียวของไทยสู่มาตรฐานสากล ผลักดันสู่การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”