ค่าไฟแพง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในเวลานี้ หลังจากอุณหภูมิหน้าร้อนนี้สูงขึ้น ส่งผลให้เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ทำงานหนักกินไฟฟ้ามากขึ้น กระทบแต่ละครัวเรือนและภาคธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ในขณะที่ค่าไฟฟ้าของไทยเป็นแบบก้าวหน้าหรือขั้นบันได ยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ก็ต้องยิ่งจ่ายค่าไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ค่าไฟฟ้าจะปรับลดราว 7 สตางค์ต่อหน่วย มาอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วยก็ตาม
อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีล่าสุดยังมีมติที่จะช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัยในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ต่อไปอีก พร้อมทั้งมีเงินสนับสนุน 150 บาท ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ในเดือนพฤษภาคม 2566 แล้วก็ตาม แต่เมื่อสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงจะยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีกในงวดถัด ๆ ไป จากปัญหาค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและต้องส่งเงินที่ติดค้างค่าเอฟทีให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงดังกล่าว จึงส่งผลให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ได้หันมาให้กับความสำคัญกับการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป มากขึ้น
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รายงานว่า ขณะนี้ประชาชนมีการยื่นขออนุญาตเพื่อเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.-21 มี.ค. 2566 มีจำนวนผู้ยื่นลงทะเบียน 1,020 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 5,492.38 กิโลวัตต์ (kW) ในแง่จำนวนผู้ขออนุญาตถือว่า สูงเกือบเทียบเท่ากับปี 2565 ที่มีจำนวน 1,287 ราย กำลังการผลิตรวม 7,195.0 กิโลวัตต์ ซึ่งรวมกับในช่วงแรกของโครงการระหว่างปี 2562-2564 มีจำนวน 2,250 ราย มีกำลังการผลิต 12,335.2 กิโลวัตต์ เท่ากับว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ยื่นขออนุญาตผลิตไฟฟ้าแล้ว 3,537 ราย และได้ลงทะเบียนใหม่ยังไม่เริ่มผลิตไฟฟ้าอีก 1,020 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 25,022.58 กิโลวัตต์
ค่าไฟแพงแห่ติดโซลาร์รูฟฯ
นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานปฏิบัติการ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) นายกสมาคมอุตสาหกรรมโซลาร์แสงอาทิตย์ไทย (TPVA) เปิดเผยว่า การติดโซลาร์รูฟในปีนี้มีจำนวนผู้สนใจเพิ่มมากขึ้น คาดว่าทั้งปี 2566 ตลาดโซลาร์รูฟท็อปจะโตขึ้น 2-3 เท่าจากปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้นิยมติดโซลาร์เซลล์เพราะอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟที (Ft) ติดลบ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูก การติดตั้งคืนทุนช้า
นายทรงธรรม ธนะศิริวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ ครีเอชั่น จำกัด เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา สำหรับภาคประชาชน ทำให้ตลาดมีการเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับช่วงนี้กระแสค่าไฟแพง ทำให้ตลาดเติบโตมากขึ้นไปอีก ขณะที่ภาคธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม มองว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นเรื่องของการลดต้นทุนค่าไฟแพง และกระแสลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
“เฉพาะโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ตามบ้านนั้นเดิมติดตั้งประมาณ 100-200 หลัง แต่ปี 2566 นี้มีสัญญาติดตั้งประมาณ 300 หลัง ซึ่งช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาติดตั้งไปแล้ว 100 กว่าหลัง ทำให้ตลาดปีนี้มีการเติบโตเป็นเท่าตัว ส่วนราคานั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยสำหรับผู้ใช้ตามบ้านนั้นราคาต่อวัตต์ ยังอยู่ที่ 30-35 บาทต่อวัตต์ ปกติการติดตั้งตามบ้านจะอยู่ที่ 1- 5 กิโลวัตต์ ส่วนกลุ่มโรงงานจะอยู่ราว 28-30 บาทต่อวัตต์ โดยกลุ่มโรงงานจะติดตั้งที่ 100-200 กิโลวัตต์ ซึ่งต้นทุนหลักของ โซลาร์ รูฟท็อป คือ แผงโซลาร์ที่ราคาขึ้นลงขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทเป็นหลัก”
ห้าง-โรงแรม-รพ.ปรับตัว
นายพอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี กล่าวว่า อิมแพ็คต้องปรับแผนดำเนินธุรกิจ 3-5 ปีนี้ โดยตั้งเป้าลดการใช้ประหยัดพลังงานในพื้นที่จัดแสดงงานในปีนี้ที่ 4% จากในปี 2565 ที่ตั้งเป้า 4% แต่ทำได้จริงก็ 7% ซึ่งประหยัดพลังงานได้ถึง 1,811,224 กิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ 7,806,376.27 บาท (อัตราค่าไฟเฉลี่ย 4.31 บาทต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง) แต่คาดว่าปี 2566 จะสามารถลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงานได้เกินเป้าอีก
การลดการใช้พลังงานดังกล่าว บริษัทได้หันมาใช้พลังงานทดแทน โดยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ตามอาคารต่าง ๆ ทยอยเปลี่ยน โดยปีที่ผ่านมาอิมแพ็ค ได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ หลังคาของอาคารชาเลนเจอร์ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 593.64 กิโลวัตต์ หลังคาอาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 316.20 กิโลวัตต์ หลังคาอาคารจอดรถ P.3 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 153 กิโลวัตต์ ซึ่งในปี 2565 ทั้ง 3 อาคารมีปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 1,137,805 กิโลวัตต์/ชั่วโมง
นางสาวเมตตา บุญญฤทธิพงษ์ ผู้จัดการทั่วไป โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา บางกอก พระนคร กล่าวว่า จากสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟของโรงแรมเซ็นทราฯ ในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของต้นทุนทั้งหมดของโรงแรมฯ เมื่อเจอปัญหาค่าไฟพุ่ง เล็งเห็นแล้วว่าจะส่งผลกระทบ ทำให้ได้กำไรน้อยลง โรงแรมฯ จึงเตรียมลงทุน 2 ล้านบาท เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในเดือน มิ.ย.นี้ หลังประเมินแล้วว่าคุ้มทุน สามารถลดค่าไฟได้ในระยะยาวเฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน
นายธานี มณีนุตร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC ผู้ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในเครือ พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ กล่าวว่า หากพิจารณาค่าไฟของโรงพยาบาลในเครือ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 30% ทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการขายและการบริการ (Total SG&A) ขยับสัดส่วนขึ้นเป็น 16% จากเดิมก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 12%
อย่างไรก็ดีโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมบริหารจัดการใช้พลังงานของโรงพยาบาล หลังจากพบว่าแนวโน้มราคาพลังงานมีทิศทางสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องหันไปใช้พลังงานทดแทนในปีนี้ โดยร่วมมือกับ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) ในเครือ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) พันธมิตรธุรกิจดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ที่สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนในรูปแบบ BOT (Build-Operate-Transfer) ให้กับ บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัดในเครือ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล (PRINC) เมื่อสิ้นสุดสัญญา โดยมีมูลค่าการซื้อขายไฟฟ้าตามสัญญารวมประมาณ 250 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 3 ล้านหน่วยต่อปี ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 1,500 ตันคาร์บอนต่อปี
ปัจจุบันดำเนินการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในโรงพยาบาล 9 แห่ง และบริษัทในเครืออีก 1 แห่ง รวมกำลังการผลิต 1,878 กิโลวัตต์ (kW) มีกำหนดเดินเครื่องโซลาร์รูฟท็อปในโรงพยาบาลในเครือแห่งแรก ได้แก่ รพ.พริ้นซ์ ลำพูน เริ่มเดือนพฤษภาคม 66 นี้เป็นต้นไป และเดินเครื่องเต็มรูปแบบทุกแห่ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
ฟาร์มปศุสัตว์แห่ใช้โซลาร์ฯ
นายสัตวแพทย์ ธนวัฒน์ คงเจริญสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอซายน์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BIS” ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในธุรกิจฟาร์มขนาดใหญ่ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน BIS มีลูกค้าที่เป็นฟาร์มปศุสัตว์ทั้งสุกรและสัตว์ปีก รวมถึงโรงเชือดโรงตัดแต่งเนื้อสัตว์ สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากกว่า 20 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งธุรกิจนี้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้าได้ถึง 30-40% ตอบโจทย์ช่วงอัตราค่าไฟฟ้าปรับตัวสูง และเทรนด์ลดโลกร้อน
“การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าช่วง พีค หรือช่วงที่มีแสงสว่างได้ถึง 40% โดยใช้เวลาคืนทุน (ROI) เพียง 4 ปี แต่หากค่า FT สูงอาจใช้เวลาเพียง 3-3 ปีครึ่ง”
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์ บริษัท บริลเลี่ยนท์ พาวเวอร์ หนึ่งในผู้นำด้าน Solar Rooftop EPC ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ให้กับกลุ่มลูกค้าหลักของ BIS ที่เป็นโรงเรือนเกษตรเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในช่วงแรกนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างการดำเนินการแล้ว 2 โครงการ และกำลังเสนองานเพิ่มกว่า 10 โครงการ มูลค่า 5-25 ล้านบาทต่อโครงการ ขึ้นกับขนาดของโครงการ เนื่องจากพลังงานทดแทนนี้ สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งปัจจุบันสถานการณ์ค่าไฟฟ้ามีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลังงานทดแทนได้รับความสนใจมากขึ้น ส่งเสริมการทำธุรกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน และช่วยลดภาวะโลกร้อน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3884 วันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566