แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (3 พ.ค. 66 ) จะมีการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยเป็นการประชุมบอร์ดตามวาระปกติ แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ มีวาระหนึ่งที่ต้องตับตาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวาระที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. (PEA) ได้เสนอบอร์ดกกพ.ให้ใบอนุญาตบริษัทแห่งหนึ่ง ที่สร้างโซลาร์ฟาร์มตั้งแต่ปี 52 เกือบ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งมีราคารับซื้อสูงถึงหน่วยละ 11.80 บาท
ทั้งนี้ แบ่งเป็นราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) หน่วยละ 8 บาท รวมค่าไฟฟ้าขายส่งอีกหน่วยละ 3.80 บาท เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยเป็นราคารับซื้อที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ PEA ขายส่งหน่วยละ 3.80 บาท
และราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) อยู่ที่ 2.16 บาท รวมถึงขณะนี้เป็นช่วงที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าแพงอย่างหนัก หากมีการอนุมัติจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟสูงมาก คือ ซื้อหน่วยละ 11.80 บาท แต่นำมาขายเข้าระบบได้แค่ 3.80 บาท
สำหรับประเด็นการรับซื้อไฟสูงถึง 11.80 บาทดังกล่าวนี้ เกิดจากข้อพิพาทระหว่าง กฟภ. กับเอกชนรายหนึ่ง หลังจากที่ กฟภ.ได้ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้าโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแอดเดอร์ 8 บาท เป็นเวลา 10 ปี แบ่งเป็นสัญญา 5 ปี ต่อสัญญาอัตโนมัติอีก 5 ปี ซึ่งเอกชนรายดังกล่าวต้องขายไฟให้กฟภ.ในปี 53
อย่างไรก็ดี เมื่อใกล้ครบกำหนด กฟภ.ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า เอกชนยังไม่ได้ก่อสร้างแต่อย่างใด จึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้เร่งสร้าง จนครบกำหนดก็ไม่ได้มีการดำเนินการใด
"ในปี 55 ทางคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงมีมติให้ กฟภ.ยกเลิกสัญญากับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ตามสัญญา จากนั้น กฟภ.มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญากับเอกชนรายนี้ไป”
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อไปอีกว่า จนกระทั่งปี 60 เอกชนรายดังกล่าวได้ยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการว่า กฟภ.แจ้งยกเลิกสัญญามิชอบ เนื่องจาก กฟภ.ส่งหนังสือแจ้งเลิกสัญญาไปยังบุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งตามสัญญาระบุว่า การยกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือมายังบริษัทฯ
ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้ง เท่ากับว่า ยังไม่มีการยกเลิกสัญญา และในสัญญาระบุว่า หากบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา กฟภ.ต้องมีหนังสือแจ้งเตือน โดยให้แก้ไขตามเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดแล้วบริษัทยังไม่ได้แก้ไข ถึงจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญา
อย่างไรก็ตาม ในปี 62 อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้กฟภ. ต้องรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนแห่งนี้ เพราะเป็นการยกเลิกสัญญามิชอบ ไม่ได้แจ้งยกเลิกสัญญาเป็นหนังสือส่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่ส่งให้ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องแทน และไม่ได้เตือนให้แก้ไขตามกำหนดเวลา เมื่อไม่ได้แก้ไขถึงจะยกเลิกสัญญา
แต่อนุญาโตตุลาการให้ กฟภ.รับซื้อไฟฟ้าในราคาเดียวกับรายอื่นที่ขายให้ กฟภ.ในราคาปี 62 คือ ราคาขายส่งหน่วยละ 3.80 บาท ราคาอาร์อี 2.16 บาท
โดยประเด็นดังกล่าวนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใด กฟภ.ไม่นำประเด็นคดีขาดอายุความมาต่อสู้ และยังมีประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายหลายข้อมาต่อสู้ได้ เช่น กำหนดเวลาแก้ไข 15 วัน หรือ 30 วัน แต่กฟภ.ยืดให้เป็นเวลา 12 เดือน ทำให้เอกชนติดตั้งโซลาร์ฟาร์มได้ทันเวลา