นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 32 บาทต่อลิตร
ภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 โดยแนวทางการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริหารจัดการราคาน้ำมันดีเซลดังกล่าว จะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลาหนึ่งตามสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะดำเนินการได้
ซึ่งการรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือประชาชนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายในยามที่เศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัว และจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยจะพิจารณาบริบทของปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบในการบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในตลาดน้ำมัน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องเตรียมพร้อมสภาพคล่องเพื่อรองรับความผันผวนนั้น รวมถึงต้องคำนึงถึงการบรรเทาผลกระทบต่อรายจ่ายด้านพลังงานของประชาชน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแม้ว่าฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังคงติดลบ แต่สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นหลังจากได้เงินกู้ยืมเข้ามาเติมในระบบ และสามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลง
แต่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีความผันผวนด้วยปัจจัยกำลังการผลิตของกลุ่มโอกเปก และความกังวลในเศรษฐกิจที่ยังคงถดถอย โดยราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลในตลาดโลกช่วงมกราคม – มิถุนายน 2566 อยู่ที่ 98.64 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลง 29.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากช่วงสิ้นปี 2565
สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ วันที่ 16 กรกฎาคม 2566 ติดลบ 49,829 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 4,316 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 45,513 ล้านบาท