กฟผ.ลุยออสเตรเลีย ศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจน ยกระดับผลิตไฟฟ้าไทย

02 ส.ค. 2566 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 08:50 น.

กฟผ. ลุยแดนจิงโจ้ อัพเดทนวัตกรรมพลังงานสะอาด เรียนรู้เทคโนโลยีไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย เล็งเป้าสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในไทยสู่พลังงานสะอาด สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงาน (2 ส.ค. 2566) นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำทีม ผู้บริหาร กฟผ. และสื่อมวลชน ศึกษาดูงานแหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตรด้านพลังงาน ณ ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคม 2566 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เผยว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีแผนงานมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมไร้คาร์บอนอย่างยั่งยืนตามนโยบาย 4D1E (Decarbonization, Decentralization, Digitalization, De-regulation, Electrification) ที่สำคัญคือ การสนับสนุนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคพลังงาน ทั้งการนำมาเป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือนำไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

ที่ผ่านมา กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ได้ดำเนินการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน และศึกษาพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีเป้าหมายเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานเพื่อให้บริการพลังงานสีเขียว โดยมีความร่วมมือที่ดีกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงหน่วยงานด้านพลังงานของประเทศออสเตรเลีย ที่มีเป้าหมายมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

สำหรับ Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่นำร่องผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวล ด้วยขบวนการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining) พร้อมกับขนส่งทางเรือไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคู่กับกระบวนการดักจับคาร์บอนด้วยเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage)

กฟผ.ลุยออสเตรเลีย ศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจน ยกระดับผลิตไฟฟ้าไทย

สอดคล้องกับ กฟผ. ที่สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2

ขณะที่อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก คาดนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วนร้อยละ 5 ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574 – 2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (Brown Hydrogen) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

กฟผ.ลุยออสเตรเลีย ศึกษาเทคโนโลยีไฮโดรเจน ยกระดับผลิตไฟฟ้าไทย

ด้าน องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) เป็นหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีความร่วมมือกับ กฟผ. ในการศึกษาวิจัยระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน พร้อมร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนดำเนินงานร่วมกันต่อไป

ในส่วนของระบบกักเก็บพลังงาน โครงการ Victorian Big Battery ที่ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท Neoen ร่วมกับ Tesla และ AusNet Services นับเป็นหนึ่งในโครงการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียขนาด 300 เมกะวัตต์ ช่วยสร้างความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้า และลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เช่นเดียวกับระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ของ กฟผ. ที่ปัจจุบันมีโครงการนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ จำนวน 16 เมกะวัตต์ สถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี จำนวน 21 เมกะวัตต์ รวม 37 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ช่วยลดความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ รักษาเสถียรภาพในระบบไฟฟ้าและลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบส่ง และโครงการพัฒนาสมาร์ทกริด จังหวัดแม่ฮ่องสอน ขนาด 4 เมกะวัตต์ เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ตัวเมืองแม่ฮ่องสอน

นายบุญญนิตย์ กล่าวตอนท้ายว่า "กฟผ. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน พร้อมก้าวสู่ผู้นำด้านพลังงานสีเขียว เพื่ออนาคตพลังงานไทยที่มั่นคง ยกระดับเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”