ส่องนโยบายพลังงานเพื่อไทย "ลดค่าไฟ-น้ำมัน" ราคาที่ต้องจ่ายล่าสุด

24 ส.ค. 2566 | 01:54 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2566 | 01:55 น.

ส่องนโยบายพลังงานเพื่อไทย "ลดค่าไฟ-น้ำมัน" ราคาที่ต้องจ่ายล่าสุดอยู่ที่กี่บาท ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้หมดแล้วที่นี่ หลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมดันเศรษฐา ทวีสินขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

"พรรคเพื่อไทย" เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมี"เศรษฐา ทวีสิน" ได้รับคะแนนโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

ทั้งนี้ นอกจากนโยบายการแจก “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ที่เป็นที่จับตาแล้ว พรรคเพื่อไทยยังมีอีกหลายนโยบายที่ต้องติดตาม

แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือนโยบายทางด้านพลังงาน ซึ่งมีผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง

จาการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับนโยบายทางด้านพลังงานของพรรคเพื่อไทย พบว่า

 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศนโยบายพลังงานในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะผลักดันนโยบายพลังงาน 2 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 

จะลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาแก๊สหุงต้ม และราคาน้ำมัน ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
 

จะมีการเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ควรนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ มี 8 ประการ คือ

  • ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีปริมาณมากกว่าแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี
  • ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากพม่าลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูงมาก
  • การนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง
  • ในอนาคตเทรนด์โลกจะนิยมใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ในอนาคตก๊าซธรรมชาติจะไม่มีราคา จึงจำเป็นต้องรีบนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้และขายนำรายได้เข้าประเทศ
  • ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนสามารถเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ โดยไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 6 โรง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า
  • รัฐจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา และมีรายได้จากภาษีจำนวนมหาศาล
  • รัฐจะได้ค่าภาคหลวงในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม
  • การสำรวจและขุดเจาะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี จึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้

อย่างไรก็ดี ในเว็บไซด์ของพรรคเพื่อไทยยังมีอีกหนึ่งนโบายทางด้านพลังงาน ได้แก่ 

ส่องนโยบายพลังงานเพื่อไทย \"ลดค่าไฟ-น้ำมัน\" ราคาที่ต้องจ่ายล่าสุด สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับราคาค่าไฟในปัจจุบันที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ส่วนรอบบิล ก.ย.-ธ.ค. 66 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงานกกพ.) ระบุว่า จะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานกกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. ระบุชัดเจนด้วยว่า ประชาชนจะต้องจ่ายที่ 4.45 บาทต่อหน่วยตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย.นี้ ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้อีกโดยเฉพาะตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการขอให้เฉลี่ยเหลือเป็น 4.25 บาทต่อหน่วย

ส่องนโยบายพลังงานเพื่อไทย "ลดค่าไฟ-น้ำมัน"

โดยราคาดังกล่าวเป็นการพิจารณาหลังการเปิดรับฟังความเห็นไปแล้วใน 3 แนวทางและสุดท้ายเลือกแนวทางค่า Ft เรียกเก็บที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.- ส.ค.2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย 

ส่วนราคาน้ำมันในปัจจุบัน ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 

กลุ่มน้ำมันเบนซิน

  • น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ลิตรละ 47.34 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ 97  ลิตรละ 48.54 บาท (บางจาก)
  • แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 39.55 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 39.28 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ E20 ลิตรละ 37.24 บาท
  • แก๊สโซฮอล์ E85 ลิตรละ 37.69 บาท

ส่องนโยบายพลังงานเพื่อไทย "ลดค่าไฟ-น้ำมัน"

กลุ่มน้ำมันดีเซล

  • ซุปเปอร์พาวเวอร์ดีเซล B7 ลิตรละ 39.94 บาท (โออาร์)
  • ไฮพรีเมี่ยมดีเซลS B7 ลิตรละ 43.14 บาท (บางจาก)
  • ดีเซล B7  ลิตรละ 31.94 บาท
  • ดีเซล B10 ลิตรละ 31.94 บาท 
  • ดีเซล B20 ลิตรละ 31.94 บาท

ขณะที่ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติให้ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2566 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน

ด้านปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา นั้น ล่าสุดนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า รัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะรับเป็นผู้นำในการพิจารณา และเจรจาเรื่องดังกล่าว

โดยที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศไทยได้มีการประชุมร่วมกับประเทศกัมพูชาแล้วหนึ่งครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับและมีความคืบหน้าที่ดี ในขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังต้องดูรายละเอียดอื่น เช่น ยังมีเรื่องของแนวเขตที่กระทรวงการต่างประเทศยังเป็นกังวลอยู่ และต้องหาทางออก