"บุญญนิตย์"เร่งตั้ง "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" นั่งผู้ว่า กฟผ.คนใหม่สานต่องาน

21 ส.ค. 2566 | 08:03 น.
อัพเดตล่าสุด :21 ส.ค. 2566 | 09:10 น.

"บุญญนิตย์"เร่งตั้ง "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" นั่งผู้ว่า กฟผ.คนใหม่สานต่องาน ระบุหากแต่งตั้งล่าช้าจะมีผลต่อนโยบายใหม่ของการทำงานในอนาคต ที่ต้องมีความต่อเนื่องและปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลง

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะทำงานเป็นวันสุดท้าย เนื่องจากจะเกษียณอายุในวันที่ 22 ส.ค. 

รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (21 ส.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกฟผ.ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแต่งตั้งรักษาการ ผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่ในระหว่างรอการแต่งตั้ง ผู้ว่าการคนใหม่ซึ่งนับเป็นการตั้งรักษาการคนแรกในรอบ 54 ปี

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า ต้องการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาเห็นชอบการแต่งตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่โดยเร็วเนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการคัดเลือกผู้ว่าการคนใหม่ คือนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ผ่านขั้นตอนอย่างถูกต้องมาแล้ว 
 

หากแต่งตั้งล่าช้าจะมีผลต่อนโยบายใหม่ของการทำงานในอนาคต ซึ่งต้องมีความต่อเนื่องและปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลง

สำหรับรูปแบบพลังงานของประเทศนั้นในระยะยาวจะต้องค่อยๆเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล แต่ฟอสซิลพลังงานแบบเก่าก็ยังจำเป็นต้องเป็นพลังงานพื้นฐานหรือ back up เพื่อให้เกิดความมั่นคงและต้นทุนไม่แพง 

เพราะในช่วง 5-10 ปีนี้ แบตเตอรี่สะสมพลังงานทดแทนยังมีราคาแพง ขณะที่ แสงแดดหรือลมไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 

ดังนั้น โครงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่า เชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังมีความจำเป็น สำหรับการวางแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการ ในรูปแบบ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ซึ่ง กฟผ.ก็ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

“ไม่ห่วง กฟผ.เพราะที่ผ่านมา ทั้งผู้บริหารและพนักงาน กฟผ.ทำหน้าที่ดีอยู่แล้ว นอกจากดูความมั่นคงแล้ว ยังวางแผนพร้อมการเปลี่ยนผ่านพลังงานรูปแบบใหม่ นำระบบดิจิทัลมาใช้ ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลิตพลังงานทดทน เช่น โซลาร์ลอยน้ำ เชื้อเพลิง ไฮโดรเจน ยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ฯลฯ แต่ก็ต้องการให้การวางแผนพลังงานของประเทศดูถึงความมั่นคงและต้นทุนค่าไฟของประชาชนในอนาคต ควบคู่การลดก๊าซเรือนกระจกที่ต้องสมดุลกัน”