"ลดค่าไฟ" เป็นอีกหนึ่งนโยบายทำทันทีของพรรคเพื่อไทย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยลั่นวาจาเอาไว้
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปดูแนวทางที่จะดำเนินการ และความเป็นไปได้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) งวดก.ย.-ธ.ค. 2566 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.- ส.ค.2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วยที่ประชาชนจะต้องจ่าย
สำหรับแนวทางที่พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการนั้น ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เขต 5 พรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความระบุถึงแนวทางการลดค่าไฟ ว่า
ใช้กลไกการยืดการชำระหนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปก่อน ในช่วงที่ต้นทุนไฟฟ้ายังสูงอยู่ เพื่อลดภาระที่ซ้ำเติมต้นทุนไฟฟ้า
โดยแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุไว้ข้อ 1 ว่า
การยืดหนี้ค่าบริหารจัดการค่าเอฟที ของกฟผ. ซึ่ง กฟผ.รับภาระไปก่อนรวมวงเงิน 110,000 ล้านบาท โดยผู้ใช้ไฟมีกำหนดใช้หนี้คืน กฟผ.รวม 22 เดือน และถ้าจะลดค่าเอฟทีต้องขยายเวลาคืนหนี้ให้ กฟผ.ออกไป โดยรัฐบาลต้องมาแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ กฟผ. เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล
นอกจากนี้ ก็จะมีแนวทางให้รัฐบาลจัดงบประมาณเข้ามาช่วยอุดหนุนค่าไฟฟ้าเหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วเคยดำเนินการ โดยใช้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมาช่วยเหลือผู้ใช้ไฟเฉพาะกลุ่มครัวเรือน ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และส่วนผู้ใช้ไฟที่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ให้ปรับการช่วยเหลือเป็นแบบขั้นบันได เป็นต้น
การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อ การผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อน ในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน
การเร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อเปลี่ยนความขัดแย้ง ในอดีต ให้กลับมาเป็นโอกาสของประเทศที่จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการพึ่งพา LNG นำเข้า
การปรับแก้ในเรื่องของค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) โดยการเจรจาการลด Margin การยืดเวลาของสัญญาเดิม และไม่เร่งการเพิ่มซัพพลายของการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามก็คือแนวทางที่จะลดค่าไฟ ซึ่งทั้งพรรคเพื่อไทย และกระทรวงพลังงานต่างเห็นตรงกันนั่นก็คือ การยืดหนี้ของ กฟผ. ออกไป เนื่องจากก่อนหน้านี้บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ซึ่งปัจจุบันเป็นอดีตผู้ว่าการ กฟผ. เคบระบุชัดเจนว่า ข้อเรียกร้องของภาคเอกชนที่ต้องการให้ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 อยู่ที่ระดับ 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น คงเป็นไม่ได้ ด้วยแนวทางสำคัญคือการยืดหนี้ กฟผ.110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวด หรือสิ้นสุดภายในเม.ย. 2568 เนื่องจากจะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของกฟผ.
และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของกฟผ.ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น
หลังจากนี้ คงต้องติดตามดูว่ามติจาก ครม. จะออกมาเป็นเช่นไร "ค่าไฟ"จะลดได้หรือไม่