"เปิดเสรีนำเข้าน้ำมัน" นโยบายที่กำลังได้รับการจับตามอง หลังจากที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศออกมา เพื่อเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง โดยมองว่าควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว หากผู้ใดที่สามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้
ต่อกรณีดังกล่าวผู้ประกอบการธุรกิจน้ำมัน ได้ให้ความคิดเห็น ว่า ปัจจุบันไทยเปิดเสรีนำเข้าน้ำมันอยู่แล้ว โดยแนวคิดของนายพีระพันธุ์อาจหมายถึงการปลดล็อกขั้นตอนการนำเข้าให้สะดวกมากขึ้น
ขณะที่การนำเข้าจะต้องมีอุปทานและอุปสงค์ที่ชัดเจน และความสามารถในการทำราคาเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ หากปลดล็อกได้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้น้ำมันแน่นอน
ส่วนโรงกลั่นน้ำมันจะต้องปรับตัวและเป็นความท้าทาย เพราะกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่จากเดิมซื้อจากโรงกลั่นก็อาจหันไปนำเข้าเอง ซึ่งธุรกิจนี้ต้องมีอุปทานและอุปสงค์ที่ชัดเจน เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวนขึ้นลงตลอดเวลา ต้องคาดการณ์ล่วงหน้าและต้องแบกรับความเสี่ยงได้
แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจน้ำมันกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 2543 สามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปได้อยู่แล้ว ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องสำรองน้ำมันต่างหากด้วย มีคลังรองรับเพื่อความมั่นคง ถือเป็นต้นทุนอีกทางหนึ่ง
อีกทั้งตามขั้นตอนการนำเข้าต้องอยู่ภายใต้ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าที่มีมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร 2552 ดังนั้น การนำเข้าเสรีเชื่อว่าอาจต้องไปดูที่ข้อกฎหมายของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
นอกจากนี้ ผู้นำเข้าต้องสามารถจัดการความเสี่ยงจากราคาน้ำมันโลกได้ด้วย จะสังเกตว่าผู้ค้าน้ำมันในไทยที่ไม่มีโรงกลั่นอย่างเชลล์ พีที เหตุใดจึงไม่นำเข้าหากต้นทุนสุดท้ายถูกจริง แต่เลือกซื้อจากโรงกลั่นในไทย นั่นแสดงว่าต้นทุนนำเข้าถูกจริงหรือไม่ เพราะปกติน้ำมันสำเร็จรูปมีการบวกต้นทุนค่าการกลั่นอยู่แล้ว หรืออาจติดขัดข้อกฎหมายระเบียบขั้นตอนในไทยจึงไม่จูงใจให้นำเข้า เรื่องนี้รัฐบาลต้องศึกษาในเชิงลึก