โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าที่ทุกครัวเรือนมองว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ แม้ว่าค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จะปรับลดลงมาแล้วอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย จากรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ที่ระดับ 4.70 บาทต่อหน่วย
หนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลจะหยิบยกมาพิจารณาลดค่าไฟทันที ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกมีความเป็นไปได้ว่า จะใช้มาตรการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระหนี้ที่เกิดจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนเมษายน 2568 ราว 111,869 ล้านบาท โดยการยืดหนี้ที่ค้างไว้ออกไปหรือพักการชำระหนี้ไว้ก่อน จากที่งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ต้องส่งคืนกฟผ.ในรูปค่าเอฟที 38.31 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินในแต่ละงวดราว 23,428 ล้านบาท เพื่อให้กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายในเดือนเมษายน 2568
ทั้งนี้ หากรัฐบาลเลือกใช้วิธียืดหนี้ โดยการลดอัตราเรียกเก็บค่าเอฟทีลง ก็จะส่งผลให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระหนี้ออกไปอีกกว่าจะได้รับเงินคืนทั้งหมด หรือหากใช้วิธีชะลอการเก็บค่าเอฟที ค่าไฟฟ้าจะลดลงทันที 38.31 สตางค์ต่อหน่วย หรือราว 5,857 ล้านบาทต่อเดือนแต่วิธีนี้จะทำให้ กฟผ.แบกรับภาระหนี้ไปอย่างไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะนำวิธีลดค่าไฟฟ้าใดมาใช้ จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ. อย่างหนัก เพราะที่ผ่านมา กฟผ.ต้องไปกู้เงินเพื่อมารักษาสภาพคล่องและต้องจ่ายหนี้ที่ติดค้างค่าเชื้อเพลิงกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ซึ่งเป็นเหตุผลที่ กฟผ.ได้แจ้งถึงความจำเป็นขอรับการทยอยจ่ายคืนเงินจากภาระต้นทุนเชื้อเพลิงกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ในอัตรา 38.31 สตางค์ต่อหน่วย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชนได้อีก
ประกอบกับ กฟผ.กำลังจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่อาจจะสูงขึ้นจากการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ที่มีราคาแพง ในปริมาณที่มากขึ้น หรือสูงกว่าที่กกพ.เคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าในการนำมาคำนวณค่าเอฟทีงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ(G1/61) ไม่สามารถผลิตไฟ้ตามแผนที่วางไว้ที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจาก สปป.ลาวลดลง จากปัญหานํ้าในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาสูงขึ้นในช่วงหน้าหนาว ส่งผลให้ กกพ.ต้องคำนวณต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าใหม่ ส่วนนี้ก็จะทำให้กฟผ.ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก
หากรัฐบาลยังยืนแนวทางที่จะให้กฟผ.แบกรับภาระจนมีปัญหาขาดสภาพคล่อง จะกระทบต่อการชำระหนี้เงินกู้ การชำระค่าเชื้อเพลิงที่ติดค้าง การนำเงินกำไรส่งรัฐลดลง และหากต้องไปกู้เงินเพิ่ม สัดส่วนหนี้ของกฟผ. จะสูงเกินไปกระทบต่อเครดิตเรทติ้งของ กฟผ.กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นไป และยังกระทบไปถึงเพดานหนี้สาธารณะของประเทศขยับตัวสูงขึ้นอีก
ดังนั้น หากรัฐบาลจะเลือกใช้วิธีดังกล่าวลดค่าไฟฟ้ากระทรวงการคลังต้องหามาตรการอื่น ๆ มาช่วย แก้ปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ. หรือให้หน่วยงานอื่นอย่างบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้ามาร่วมแบกรับภาระในการการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯในแต่ละงวดออกไป โดยไม่มีดอกเบี้ยก็เป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ได้ทางหนึ่ง
หรือหากไม่เลือกวิธีลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวนี้ รัฐบาลต้องไปจัดสรรงบประมาณส่วนอื่นมาช่วยเหลือ ลดผลกระทบค่าไฟฟ้า และช่วยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ได้เคยดำเนินการที่ลดค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่อยต่อเดือน และ 500 หน่วยต่อเดือน เป็นต้น
การใช้วิธีการซํ้าเติมฐานะการเงินของกฟผ.ให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ จะมีผลกระทบไปถึงการสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของประเทศ และที่สำคัญการต้องกู้เงินมา จะสะท้อนไปอยู่ในค่าไฟฟ้า สุดแล้วประชาชนก็จะเป็นผู้แบกรับภาระค่าไฟฟ้าในระยะยาวอยู่ดี