เอกชนผิดหวังทีมเศรษฐกิจ ตั้งรัฐมนตรี “ไม่ตรงปก”

30 ส.ค. 2566 | 10:20 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2566 | 10:20 น.

เอกชนเสียงแตกโผ ครม.รัฐบาลใหม่ ทั้งรับได้และเห็นต่างชี้ "พลังงาน-ดิจิทัล" ตั้งคนไม่ตรงกับงาน จี้เร่งเคลื่อนนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ใน 100 วันแรก ทั้งแก้ปัญหาปากท้อง ลดค่าไฟ ดันท่องเที่ยว เร่งเบิกจ่ายงบฯค้างท่อ จี้ปัดฝุ่นเวที กรอ. ดันจีดีพีโต 5% ต่อปีเป็นจริง

โผคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” ลงตัวแล้ว ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการส่งรายชื่อให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบประวัติ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะรัฐมนตรี และถวายสัตย์ปฏิญาณ คาดรัฐบาลชุดใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และรับไม้ต่อจากรัฐบาลรักษาการเพื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินได้ราวกลางเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดีต่อโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสมกับตำแหน่งตามมา ในมุมภาคเอกชนที่ต้องประสานการทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลมองอย่างไร และต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในเรื่องใดบ้างนั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตามรายชื่อ ครม. “เศรษฐา 1” ที่ออกมา มั่นใจว่ามีการเจรจากันได้ลงตัว ส่วนความเหมาะสมของตำแหน่งต่าง ๆ มองว่าหลายตำแหน่งมีการจัดวางตามแนวนโยบายหลักที่แต่ละพรรคได้นำเสนอไว้ตอนหาเสียง ขณะที่หลายกระทรวง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีการจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรีที่เน้นกระทรวงเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของพรรคที่ได้หาเสียงไว้

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ขณะที่หลายกระทรวงมีการปรับเปลี่ยนบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำหน้าที่ บางกระทรวงมีบุคคลที่อยู่ในพรรคที่เคยบริหารกระทรวงดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ทำให้มีประสบการณ์ในการบริหารงานต่อได้ทันที ขณะเดียวกันก็มีรัฐมนตรีหน้าใหม่เข้ามาทำหน้าเพิ่มเติมอยู่บ้าง ภาพรวมเป็นการผสานทั้งคนเก่าที่มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหาร รวมถึงคนใหม่ ๆ ที่มีไฟ และพร้อมขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้นำเสนอไว้ในช่วงเลือกตั้ง

  • ปากท้อง-ค่าครองชีพวาระด่วน

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่หอการค้าฯต้องการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลใหม่ให้เร่งดำเนินการทันทีในช่วง 100 วันแรก ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การลดค่าครองชีพ และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง การแก้ไขปัญหาหนี้ผู้ประกอบการและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ 2.เร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายที่ถือเป็นไฮซีซั่นของฤดูท่องเที่ยว เฉพาะอย่างยิ่งการดึงนักท่องเที่ยวจากจีนเป้าหมาย 5 ล้านคนในปีนี้ที่ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าให้รวดเร็ว และ 3.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่ออยู่ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 และโฟกัสภาคการส่งออกในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้ให้กลับมาขยายตัวเป็นบวก

  • จี้ฟื้นเวที กรอ.ดันจีดีพีโต 5%

“หอการค้าไทยได้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหอการค้าจังหวัด สมาคมการค้า และหอการค้าต่างประเทศจัดทำ Priority Issues (ประเด็นสำคัญ) และจะมีการรวบรวมข้อเสนอของภาคเอกชนในนาม กกร. นำเสนอรัฐบาลชุดใหม่นำไปพิจารณาแก้ไขและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถกลับมาเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้”

นอกจากนี้จะขอให้รัฐบาลชุดใหม่ฟื้นเวทีความร่วมมือภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ.ที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ทั้งการประชุม กรอ.ส่วนกลางที่มีนายกฯเป็นประธาน และ กรอ.ระดับหน่วยงาน เช่น กรอ.พาณิชย์ กรอ.พลังงาน และในระดับภูมิภาค เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะกลาง และระยะยาวได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายการผลักดันจีดีพีสามารถขยายตัวได้ปีละไม่ต่ำกว่า 5% มีความเป็นไปได้

  • หนี้ครัวเรือนระเบิดเวลา

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่ตำแหน่งในโผครม.ในบางกระทรวงที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาเป็นรายวันก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่าได้ผ่านการต่อรองกันอย่างหนัก อย่างไรก็ดีภาคเอกชนพร้อมทำงานร่วมกับทุกรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการเห็น ครม.ชุดใหม่เร่งดำเนินการใน 100 วันแรกได้แก่ การแก้ไขปัญหาปากท้อง ลดค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งลดค่าไฟฟ้า และลดค่าพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญ และส่งผลต่อราคาสินค้า รวมถึงดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบที่ปัจจุบันคิดเป็น 110% ต่อจีดีพี กดทับกำลังซื้อ และเป็นระเบิดเวลานำไปสู่ปัญหาเอ็นพีแอล หากไม่สามารถชำระหนี้ได้

  • รุมค้าน “ประเสริฐ” นั่งดีอี

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมตัวแทนผู้ประกอบดิจิทัล อยู่ระหว่างการหารือเพื่อทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายหลังโผครม.เศรษฐา 1 ปรากฏชื่อ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล มีความกังวลว่าหากแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีพื้นฐาน หรือแบ็กกราวน์ทางด้านดิจิทัลเข้ามา จะไม่มีความเข้าใจอุตสาหกรรม หากมองไม่ออกจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้

“แม้จะมีที่ปรึกษาที่มีความรู้ทางด้านดิจิทัลเข้ามา แต่หากตัวรัฐมนตรีไม่มีแบ็กกราวน์ ไม่เข้าใจอุตสาหกรรม มาด้วยโควตาการเมือง การขับเคลื่อนหรือการแก้ปัญหาก็ลำบาก ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นขณะนี้คือสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยผ่านช่องทางออนไลน์ ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ปัญหาข้อมูลรั่วไหลไปยังต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการค้าออนไลน์ หน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลฯ คือการนำเทคโนโลยีไปซัพพอร์ตทุกกระทรวง ซึ่งมองว่าพรรคเพื่อไทย มีคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจอุตสาหกรรม และมีความเหมาะสม มานั่งตำแหน่ง รมว.ดีอี มากกว่า เช่น นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล”

ขณะที่ นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมองเป็นรายกระทรวงแล้ว รู้สึกเป็นห่วงกระทรวงพลังงาน ที่นายพีระพันธุ์จะมารับตำแหน่ง รมว. พลังงานนั้น อาจจะดูไม่ค่อยเหมาะสมเท่าใดนัก เพราะไม่มีประสบการณ์ทางด้านพลังงานมาก่อน  แต่หากมองในแง่ดีก็จะมีเรื่องของความเกรงใจ เมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนเก่าที่เคยผ่านงานด้านพลังงานมาก่อน

  • หวังฉีดยาแรงกระตุ้นอสังหาฯ

ด้าน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เสนอรัฐบาลใหม่เร่งกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ได้แก่ การยกเลิก LTV หรือผ่อนปรน ให้บรรเทาลง เพื่อให้เกิดกำลังซื้อ ประเด็นต่อมา ขยายเพดานการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน ฯ ที่อยู่อาศัยราคาเกินกว่า 3 ล้านบาท เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับกลางบน และเสนอให้รัฐสนับสนุนโครงการ Affordable Housing รองรับความสามารถซื้อที่อยู่อาศัย ของคนที่มีรายได้น้อย โดยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการผ่านที่ดินรัฐหรืองบประมาณรัฐสนับสนุน

ขณะที่ นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า เสนอให้รัฐบาลนำมาตรการ LTV กลับมาใช้ เพิ่มโควตาต่างชาติซื้อคอนโดมากขึ้นในหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงการแก้ปัญหาสถาบันการเงินปฏิเสธสินเชื่อ โดยให้อนุมัติสินเชื่อไปก่อน แต่หากภายใน 1 ปี ผ่อนไม่ไหว ผู้ขายต้องการันตรีรับซื้อคืน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้อสังหาฯและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเดินต่อไปได้

  • ชง 4 เรื่องใหญ่หนุนท่องเที่ยว

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า สมาคมสายการบินประเทศไทย มี 4 ข้อเสนอที่อยากจะให้รัฐบาลใหม่ผลักดัน ได้แก่ 1.ฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดีย โดยให้เดินทางเข้าไทยได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เนื่องจากหลังโควิดมีนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย เดินทางเข้าไทยคิดเป็นประมาณ 40% เท่านั้น

2.มาตรการการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต สำหรับน้ำมันเครื่องบินไอพ่น โดยเสนอให้พิจารณาการต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สำหรับเครื่องบินไอพ่น จากอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร หลังสิ้นสุดมาตรการสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนและลดต้นทุนให้กับสายการบินในประเทศ รวมถึงขอให้กระทรวงการคลังกำหนดภาษีสรรพสามิตฯดังกล่าวในอัตราที่เหมาะสม แบบขั้นบันไดทุก6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 1.70 บาทต่อลิตร

3.ค่าบริการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (CUPPS) จำนวน 30 บาทต่อเที่ยวต่อคน ที่สายการบินเป็นผู้แบกรับภาระค่าบริการดังกล่าว จะขอให้เร่งรัดการอนุมัติให้ค่าบริการดังกล่าว รวมอยู่กับค่าภาษีสนามบิน (PSC) และ 4.การขยายความตกลงว่าด้วยการขนส่งอากาศไทย-อินเดีย หรือสิทธิการบินระหว่าง 2 ประเทศให้สามารถเพิ่มความถี่ในการขนส่งทางอากาศในตลาดเอเชียใต้ และ 6 เมืองหลักของอินเดีย ประกอบด้วย นิวเดลี มุมไบ บังกาลอร์ โกลกาตา เชนไน ไฮเดอราบัด ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทย โดยข้อเสนอดังกล่าว นายเศรษฐา ได้รับทราบและจะนำไปหารือในรัฐบาลต่อไป

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3918 วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566