จี้เลิกค่าพร้อมจ่ายแก้ค่าไฟแพง อดีตผู้บริหารกฟผ.จ่อยื่นหนังสือ"นายกฯ"

02 ต.ค. 2566 | 06:39 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 06:39 น.

จี้เลิกค่าพร้อมจ่ายแก้ค่าไฟแพง อดีตผู้บริหารกฟผ.จ่อยื่นหนังสือ"นายกฯ" พร้อมพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่ให้ต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

นายพิเชษฐ์ ชูชื่น อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ และบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กลุ่มอดีตผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.และภาคประชาชนเตรียมที่จะยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อให้เร่งพิจารณาใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 

  • ขอให้เร่งพิจารณาแต่งตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่(คนที่16) ที่ดำเนินการด้วยความถูกต้องและชอบธรรมผ่านคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการกฟผ. คือ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ที่ได้เสนอไปยังรมว.พลังงานขณะนั้นคือนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ แต่ต่อมามีการยุบสภาไปเสียก่อนรัฐบาลรักษาการจึงดำเนินการไม่ได้จึงมีการนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กลต.)แล้วแต่ทางกลต.ยืนยันว่าจะต้องเสนอรัฐบาลใหม่ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่จะสามารถนำเสนอครม.ใหม่ได้เพราะเป็นการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว
  • ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาการยกเลิกค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP) ของโรงไฟฟ้าเอกชนที่ปัจจุบันแม้จะเดินเครื่องการผลิตหรือไม่ก็ต้องจ่าย ทำให้ภาระดังกล่าวไปตกอยู่กับประชาชนที่จะต้องรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น 
     
  • รัฐบาลควรพิจารณาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่ให้ต่ำกว่า 51% เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 5 ว่าด้วยเรื่องหน้าที่ของรัฐ มาตรา 56 กิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อ การดํารงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทําด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ ของเอกชนหรือทําให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้
  • ขอให้พิจารณาทบทวนการกำหนดให้แยก ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากกฟผ.ที่มีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายหากแยกออกไปแล้วเอื้อต่อเอกชนเพราะกฟผ.ไม่ได้เป็นกิจการที่มุ่งแสวงหาผลกำไร

นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.) กล่าวว่า สำหรับในเรื่องค่าไฟฟ้าแพงนั้นในความเป็นจริงต้นกำเนิดเกิดมาจากในอดีตภาครัฐและกระทรวงพลังงานเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทและกำหนดนโยบายในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้ามากเกินไปโดยขาดการสร้างความสมสมดุลย์ด้าน Demand และ Supply จะเห็นจากปัจจุบัน Supply มีมากกว่า Demand เกินครึ่งหนึ่ง ซ้ำยังกำหนดให้ กฟผ. ทำสัญญาจ่ายค่าความพร้อมและอื่น ๆ ตลอดจนปล่อยปละละเลยกำหนดนโยบายให้ใช้พลังงานหมุนเวียนมากเกินไปโดยอ้างปัญหาโลกร้อนและไปลงนามสัญญาร่วมกับประเทศต่าง ๆ โดยไม่ดูข้อจำกัดต่าง ๆ ภายในประเทศเหล่านี้ระยะต่อไปจำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหา

ค่าไฟที่รมว.พลังงานได้มีนโยบายปรับลดลงนั้นเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ปัญหาจะไม่สามารถถูกแก้ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน ดังนั้นต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือการแก้ไขสัญญาที่รัฐเสียเปรีบกับเอกชนใหม่ เช่นค่าความพร้อมจ่าย เป็นแก้ไขสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนสำหรับรายใหม่ สร้างความสมดุลย์ Demand และ Supply อย่างสมเหตุสมผล เปิดเสรีการนำเข้าเชื้อเพลิง GAS (LNG) และเสรีการซื้อขายไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการแข่งขันจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง กำหนดให้ภาคเอกชนสามารถขอใช้ท่อ Gas จาก ปตท. ได้โดยไม่มีเงื่อนไข โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ควรให้ กฟผ. เป็นองค์กรหลักในการนำเสนอและจัดทำแผน PDP เพื่อนำเสนอรัฐบาลได้อย่างถูกต้อง 

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ประชาชนได้ร้องเรียนที่ผ่านมาถึงผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่แพงจนเดือดร้อน และแม้ว่ารัฐบาลใหม่ได้ประกาศลดค่าไฟฟ้าลงในเดือนก.ย.-ธ.ค.66 ถือเป็นเรื่องดีแต่ต้องแก้ไขให้ยั่งยืนที่จะต้องปรับโครงสร้างพลังงานอื่น ๆ เช่นค่า AP การเปิดเสรีนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟ ฯลฯ