กลุ่มพิทักษ์พลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชน นำโดย นายธรรมยุทธ สุทธิวิชา อดีตประธานสหภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ,นายพิเชษฐ ชูชื่น อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าบางปะกง, นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ.และการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงผ่านนายโกมล บัวเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ที่บ้านพิบูลธรรม
ทั้งนี้ กลุ่มพิทักษ์พลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนได้ทราบปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. คนที่ 16 มากว่า 6 เดือน และปัญหาค่าไฟฟ้าแพง โดยในส่วนของการแต่งตั้งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 มีข้อเท็จจริง ดังนี้
คณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการ กฟผ. ได้ดำเนินการสรรหาเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ โดยเห็นชอบให้ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป และได้รับการสนับสนุนและการยอมรับทั้งจากพนักงาน กฟผ. และ สหภาพแรงงาน กฟผ. เป็นอย่างดี
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีพลังงานเสนอแล้ว แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์ยุบสภา ครม. จึงให้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) แต่ กกต. มีความเห็นว่าควรให้ ครม. ในรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา ดังนั้นเรื่อง จึงอยู่ที่รัฐมนตรีพลังงาน จึงเป็นความชอบธรรมที่รัฐมนตรีพลังงาน สามารถที่จะดำเนินการนำเสนอต่อ ครม. ใหม่ได้ทันทีเพราะได้ผ่านกระบวนการสรรหามาโดยชอบธรรมแล้ว
หากมีการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ใหม่ ก็จะไม่เป็นธรรมต่อ นายเทพรัตน์ ฯ และต้องใช้ระยะเวลานานไม่น้อยกว่า 3 เดือน พวกเราจำเป็นต้องทวงถามหาความเป็นธรรมให้กับผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ที่ถูกคัดเลือกมาโดยชอบธรรมแล้ว เพราะเกรงจะถูกอำนาจมืดเข้ามาครอบงำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการดำเนินงานทั้งของ กฟผ. บริษัท ในเครือ ตลอดจนการสนับสนุนงานให้กับ กระทรวง จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ท่านรัฐมนตรี ฯ โปรดพิจารณานำเสนอ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เข้า ครม. เพื่อเห็นชอบแต่งตั้งเป็น ผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ต่อไป
ขณะที่ในส่วนของค่าไฟฟ้าที่แพง ทาง กลุ่มพิทักษ์พลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชน สรุปได้ดังต่อไปนี้
สร้างความสมดุลระหว่าง Demand และ Supply ให้เหมาะสมตามความเป็นจริง พร้อมกำหนดปริมาณไฟฟ้าสำรองให้เหมาะสมกับความต้องการในการรักษาไว้ (Maintain) ซึ่งความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าภาพรวมของประเทศไม่ให้มีไฟตกไฟดับในบริเวณกว้าง โดยพิจารณาให้เหมาะสมตามรายภาคด้วย ซึ่งจะสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงอย่างสมเหตุสมผล
รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เหมาะสมกับ Demand ที่แท้จริงในแต่ละพื้นที่ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนไฟฟ้าฐานที่เกิดจากการลงทุนปรับปรุงหรือก่อสร้างสายส่งใหม่โดยไม่จำเป็นอย่างสมเหตุสมผล
ทบทวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้มีความสมดุลกับ Deman ปัจจุบัน โดยสามารถตอบสนองนโยบายลดโลกร้อนได้ตามความเหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนและภาคธุรกิจจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องสร้างโรงไฟฟ้าชนิด Conventional มาสำรองในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลกับต้นทุนไฟฟ้าฐานให้สูงขึ้นโดยผ่าน Ft
ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าภาคเอกชน เพื่อช่วยลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP: Available Payment) ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนตลอดระยะเวลาของสัญญาไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ซึ่งจะถูกนำไปรวมใน Ft ส่งผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่โรงไฟฟ้า กฟผ. จะไม่มีค่าความพร้อมจ่าย (AP) จะคิดค่าไฟฟ้าตามที่ผลิตจริง
เปิดเสรีการนำเข้า Gas LNG โดยไม่ปิดกั้นการนำเข้าตลอดจนเงื่อนไขการขอใช้ท่อ Gas และ ถังจัดเก็บ Gas (Terminal) ให้เป็นประโยชน์และคล่องตัวทั้งต่อภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลงและเศรษฐกิจในภาพรวม
นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอนำความจริง จากผู้รู้จริง เรื่องไฟฟ้ามาให้ นายพีระพันธุ์ และกลุ่มขอนัดพบรัฐมนตรีผ่าน นายโกมล บัวเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงานต่อไป