ชี้บอร์ด"ปตท."ปลด"ทศพร"พ้นประธาน เสี่ยงขัดกฎหมายโทษอาญา

19 ต.ค. 2566 | 08:09 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2566 | 08:47 น.

เปิดบทลงโทษกรรมการ ผู้บริหาร "ปตท." ดื้อบีบ"ทศพร ศิริสัมพันธ์"พ้นประธานบอร์ด หลัง กลต. ทำหนังสือตอบกลับข้อร้อเรียนนายมทศพร เรื่องการตีความข้อบังคับของปตท. อย่างเคร่งครัด

หลังจากที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เรื่อง การตีความข้อบังคับของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 66 

โดยล่าสุด กลต. ได้ทำหนังสือตอบกลับถึงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับข้อร้องเรียนดังกล่าว ลงชื่อนางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการเลขาธิการแทน โดยมีข้อความระบุว่า

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ("สำนักงานก.ล.ต.") ได้รับหนังสือร้องเรียน กรณีขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำเรื่องการตีความข้อบังคับของบริษัทท่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลจากการตีความข้อบังคับที่ผิดไปจากลายลักษณ์อักษรของบริษัทท่านความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และหากมีเหตุที่จะต้องตีความข้อบังคับให้พิจารณาตามความประสงค์ในทางสุจริตเป็นสำคัญเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 พบว่า

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 บัญญัติว่า ในการดำเนินกิจการของบริษัท กรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติ หน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท และมติคณะกรรมการ ตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

 

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดโทษกรรมการและผู้บริหารที่ไม่ปฎิบัติตามมาตรา 89/7 ไว้ใน 281/2 ว่า กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทผู้ใดไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตามมาตรา 89/7 จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย หรือทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท

ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทําโดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ค่าปรับ ดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ