นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คนใหม่แทนนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.ที่ครบวาระตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.2566 นั้น ยังต้องรอการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร กฟผ. (บอร์ด กฟผ.) ชุดใหม่ หลังจากบอร์ดชุดเก่าได้ลาออกไปทั้งชุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ระบุถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการ กฟผ. ที่จะต้องมีการเปิดรับสมัครคณะกรรมการฯ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงอยู่ระหว่างเปิดรับสมัครผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความสนใจเพื่อจะเข้ามาเป็นบอร์ด กฟผ. ซึ่งขณะนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างขั้นตอนการลงนามประกาศการสมัครคณะกรรมการบริหาร กฟผ.
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า รายชื่อคณะกรรมการ กฟผ. ที่ก่อนหน้านี่ที่กระทรวงพลังงานได้มีการทาบทามให้มานั่งบริหาร บุคคลเหล่านั้นล้วนมีความสามารถตรงตามภารกิจของ กฟผ. ดังนั้น เมื่อเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ ตนจะเชิญให้กลุ่มบุคคลที่ได้มีการทาบทามมาสมัคร โดนเชื่อว่าขั้นตอนจะไม่ล่าช้า ซึ่งหาก รมว.พลังงาน ลงนามแล้ว คาดว่าจะได้รายชื่อบอร์ด กฟผ. ภายในปีนี้แน่นอน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายประเสริฐ ได้ประเมินว่าจะสามารถเสนอรายชื่อคณะกรรมการ กฟผ.ชุดใหม่ให้คนร. ได้ภายใน 1 เดือน นับจากกลางเดือน ต.ค.2566 แต่เมื่อกระบวนจัดตั้งบอร์ด กฟผ. จะต้องเปิดรับสมัครก็จะส่งผลให้การแต่งตั้งผู้ว่าฯ กฟผ. ต้องล่าช้าลงไปด้วย เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีความเห็นให้อำนาจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบันอนุมัตินายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ภายหลังผ่านขั้นตอนการสรรหา
อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ได้มีมติเห็นชอบตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2566 ไปแล้วก็ตาม แต่ภายหลังรัฐบาลรักษาการได้เสนอรายชื่อให้ครม. เห็นชอบ แต่ด้วยมีข้อจำกัดในอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลรักษาการ จึงต้องให้ กกต. เป็นผู้ร่วมเห็นชอบ
เมื่อต้องเปลี่ยนกรรมการ กฟผ. กระทรวงพลังงาน จึงต้องการให้กรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาว่า นายเทพรัตน์ ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากกรรมการชุดก่อนเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันได้
สำหรับโจทย์หลัก ๆ ที่ บอร์ดกฟผ. จะให้นายเทพรัตน์ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่สำคัญ อาทิ การแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ออกจาก กฟผ. เพื่อให้มาบริหารที่ดึงคนนอกเข้าร่วมเพื่อความเป็นกลาง
รวมไปถึงสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (internal PPA) ของ กฟผ. ที่ไม่เกี่ยวกับเอกชนที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพสูงสุด เป็นต้น
นายปรีชา กรปรีชา รองยุทธศาสตร์แผนงาน และวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ระบุว่า สหภาพฯ และพนักงาน กฟผ. ต้องการให้มีบอร์ดบริหารและผู้ว่าฯ โดยเร็ว เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาภายใน เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งผู้บริหารภายในยังต้องอาศัยอำนาจของผู้ว่าฯ มาอนุมัติ พร้อมมอบนโยบายทิศทางการดำเนินงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่บอร์ดหรือตัวผู้ว่าฯ กฟผ. แต่ปัญหาอยู่ที่ความตั้งใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะปัญหาใน กฟผ. รัฐก็รับทราบมาโดยตลอด เมื่อฝ่ายบริหารไม่มี ระบบภายในระดับถัดมาก็จะเดินหน้าได้ลำบากไปด้วย จึงเห็นได้ชัดถึงเจตนาที่ต้องการให้ กฟผ. อ่อนแอ จากนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่การลดกำลังการผลิต กฟผ. ลง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และล่าสุดเมื่อเกิดปัญหาค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่สูงขึ้น รัฐก็ให้รัฐวิสาหกิจอย่าง กฟผ. รับผิดชอบแทนหลักแสนล้านบาท
"เรื่องของค่าไฟ รัฐบาลสามารถสั่งการได้ เมื่อไม่มีผู้ว่าฯ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ เพราะสั่งง่ายกว่าการมีผู้ว่าฯ หรือมีบอร์ด ซึ่งอาจจะมีการทักท้วงเมื่อเห็นความไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม เท่าที่ทราบ รมว. พลังงาน ท่านเก่งด้านกฎหมาย จากการแถลงนโยบาย ท่านจะแก้ไขกฎหมาย จึงหวังว่าท่านจะเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างพลังงานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน"