"พลังงาน"-พันธมิตรรุกลดฝุ่น"PM2.5"จากรถยนต์

19 ธ.ค. 2566 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 03:13 น.

"พลังงาน"-พันธมิตรรุกลดฝุ่น"PM2.5"จากรถยนต์ หลังข้อมูลพบในเขตเมืองจะเกิดจากภาคขนส่งมากถึง 72% ระบุรถบรรทุกพบมากที่สุดที่ 28% รถกระบะ 21% รถยนต์นั่ง 10% รถประจำทาง 7% รถมอเตอร์ไซค์ 5% และรถตู้ 1% 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ,ค่ายรถยนต์ และผู้ค้าน้ำมัน

ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากยานยนต์ โดยจากข้อมูลของ Greenpeace พบว่าปัญหา PM2.5 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจทั่วโลกกว่า 70 ล้านล้านบาท ซึ่งแหล่งที่มาของฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาในที่โล่ง 54% ภาคอุตสาหกรรม 17% ภาคขนส่ง 13% ภาคการผลิตไฟฟ้า 8% และอื่นๆ 8% 

อย่างไรก็ดี หากตรวจสอบเฉพาะในเขตเมืองจะพบว่าฝุ่น PM2.5 จะเกิดจากภาคขนส่งมากถึง 72% โดยรถบรรทุกพบมากที่สุดที่ 28% รถกระบะ 21% รถยนต์นั่ง 10% รถประจำทาง 7% รถมอเตอร์ไซค์ 5% และรถตู้ 1% 

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบาย 3C ประกอบด้วย 

  • Clean ยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสู่ Euro5 
  • Care ส่งเสริมการเข้าศูนย์บริการเพื่อดูแลเครื่องยนต์ 
  • Change สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

"พลังงาน"-พันธมิตรรุกลดฝุ่น"PM2.5"จากรถยนต์

ซึ่งในส่วนของการยกระดับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงสู่ Euro5 (ยูโร 5) กระทรวงพลังงานได้วางแผนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อปรับคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 ไป Euro5 ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่เริ่มใช้ในหลายๆ ประเทศแล้ว และประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกๆในกลุ่มอาเซียนที่ใช้น้ำมัน Euro5 โดยเป็นมาตรการบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 

“กระทรวงฯและเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงได้เชิญผู้ค้าน้ำมัน รวมทั้งค่ายรถยนต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ซึ่งก็ได้ทราบว่า ทั้งผู้ค้าน้ำมันและค่ายรถยนต์ได้มีโปรโมชั่นส่วนลดสำหรับลูกค้าผู้ใช้รถยนต์ในการนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการบำรุงรักษาตามระยะ รวมทั้งการเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมัน การเปลี่ยนถ่ายน้ำมัน โดยเฉพาะรถเก่า" 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ได้ทดสอบการปล่อย PM2.5 จากยานยนต์จำลองดีเซลยูโร 3 ที่ผ่านการตรวจควันดำแล้ว โดยได้ตั้งข้อสังเกตระหว่างยานยนต์ที่ไม่มีการบำรุงรักษา และยานยนต์ที่มีการบำรุงรักษาโดยการเปลี่ยนไส้กรองรถยนต์และน้ำมันเครื่อง ทดสอบโดย sensors ตรวจวัดคุณภาพอากาศจากโครงการ AIRLAB Microsensors Challenge 2023 ในห้องขนาดพื้นที่ 50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ยานยนต์ที่มีการบำรุงรักษาโดยการเปลี่ยนไส้กรองรถยนต์และน้ำมันเครื่อง สามารถลดการปลดปล่อย PM2.5 ได้จริง 

ซึ่งการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์และไส้กรองอากาศตามเวลาหรือก่อนระยะเวลาที่กำหนด จะสามารถช่วยลดการปล่อย PM2.5 ได้ถึง 25% และช่วยยืดอายุการใช้งานรถยนต์ได้อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กระทรวงพลังงานได้ออกนโยบายปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันจาก Euro4 เป็น Euro5 เนื่องจากน้ำมัน Euro5 มีกำมะถันลดลงกว่า 5 เท่า จึงส่งผลให้ลดการปล่อย PM2.5 ในเครื่องยนต์ดีเซลได้กว่า 20% 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังดำเนินมาตรการลดฝุ่นจากต้นตออย่างต่อเนื่อง เช่น การตรวจวัดรถยนต์ควันดํา การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด การเข้มงวดไซต์ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น แต่ต้องไม่ลืมว่าเรามีรถในกรุงเทพฯ กว่า 6-7 ล้านคันที่ปล่อยควัน การติดขัดของการจราจรก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งต้องเข้มงวดเรื่องวินัยจราจร ถ้ารถแล่นได้เร็วขึ้น จอดแช่น้อยลง ก็จะปล่อยควันที่มี PM2.5 น้อยลง สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น
  
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้มีสภาพอากาศปิดและเพดานการลอยตัวอากาศมีแนวโน้มลดต่ำลงทำให้การกระจายตัวของฝุ่นละอองไม่ดี และคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้สถานการณ์ฝุ่นละอองในปี 2567 มีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองที่มีการจราจรหนาแน่น อาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานบางช่วงเวลาได้ 

กระทรวงทส.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดโครงการคลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5 ปี 2567 ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้ประชาชนนำรถยนต์เข้ามารับบริการตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์โดยไม่เสียค่าบริการ และให้ส่วนลดค่าซ่อม บำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง รวมทั้งค่าอะไหล่และค่าแรงรถรวมทั้งหมด 9 บริษัท คือ TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประชาชนทั่วไป ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึง เดือนเมษายน 2567