"พีระพันธุ์"จ่อรื้อโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด

12 ม.ค. 2567 | 01:04 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2567 | 01:04 น.

"พีระพันธุ์"จ่อรื้อโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ลั่นสร้างความเป็นธรรม ระบุประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพลังงาน และจะต้องมีความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าแก้กฏหมาย 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี 67 จะดำเนินการรื้อ ลด ปลด สร้าง จะแก้กฎหมายกฎระเบียบ หรือการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ เพื่อให้โครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด ไม่ใช่แค่เฉพาะไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม โดยมองว่าประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพลังงาน และจะต้องมีความยั่งยืน 

"ในอนาคตจะมีการรื้อโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า โดยพยายามหามาตรการ เช่น การหาแหล่งเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ การรื้อสัญญาโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันในระยะยาว การเข้าไปดูแลการนำเข้า Spot LNG" 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานพยายามหามาตรการในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งในส่วนของค่าไฟฟ้า จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บ้านที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย 

ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือน จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศไว้ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย แต่ด้วยความร่วมมือจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือเพียง 4.18 บาทต่อหน่วย หรือลดลงอีก 50 สตางค์ต่อหน่วยจากที่ กกพ. ประกาศ 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินทุกมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่จำกัด แต่เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาตินำเข้าหรือ LNG แม้จะเริ่มมีราคาลดลงแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าค่าไฟฟ้าในงวดพ.ค.-ส.ค. 67 จะมีแนวโน้มไปในทางที่ดี เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในอ่าวไทยจะสามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน รวมถึงการปรับโครงสร้างราคาที่กำลังดำเนินการอยู่ ก็คาดว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงจากราคาปัจจุบันได้อีก

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานให้แต่ละหน่วยงานหามาตรการ เพื่อให้สามารถลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้มากที่สุด โดยตัวอย่างที่ดำเนินการแล้ว เช่น การให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยรวมก๊าซธรรมชาติจากทุกแหล่ง) ก็เป็นส่วนหนี่งที่ทำให้ราคาค่าไฟลดลงมาได้ และที่สำคัญคือเป็นการลดแบบถาวร 

นอกจากนี้ ยังได้ความร่วมมือจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการขยายหนี้ออกไปอีก 1 งวด และ ปตท. ในการกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติ