แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุภายหลังหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 ถึงประเด็นอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบ รัฐบาลจะถอนมาตรการดูแลค่าพลังงานหรือไม่ โดยที่นายเศรษฐา ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องลดรายจ่ายของประชาชน ซึ่งต้องดูโครงสร้างระยะยาวว่าจะทำอย่างไรให้มีราคาในระดับที่ทุกคนยอมรับได้
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ยังคงดำเนินงานภายใต้ภาระกิจลดภาระค่าครองชีพประชาชนด้านราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันผ่านสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เข้ามาอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2567
ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เพื่อเป็นการตรึงค่าครองชีพให้ประชาชนต่อเนื่องภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 2566
ส่วนราคาน้ำมันเบนซินจากมติครม. เมื่อ 31 ต.ค. 2566 เห็นชอบแนวทางการลดค่าครองชีพประชาชนตามที่กระทรวงพลังงานเสนอลดราคาแก๊สโซฮอล 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน โดยใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาทต่อลิตร รวมถึงใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนเพื่อทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลงรวม 2.50 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. 2566 – 31 ม.ค. 2567
โดยราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ลดลง 2.50 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันเบนซิน 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1 บาทต่อลิตร ส่วน E20 และ85 ลดลง 80 สตางค์ต่อลิตร
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวอีกว่า ในการดูแลราคาน้ำมันทั้ง 2 ชนิดนั้น ขณะนี้หน่วยงานหลักคือกองทุนน้ำมันฯ ที่ดูแลน้ำมันดีเซลประมาณ 3 บาทต่อลิตร เพราะกรมสรรพสามิตยังไม่มีมติเข้ามาช่วยรับภาระตรงนี้
จะเหลือแต่กลุ่มเบนซินแก๊สโซฮอล 91 ที่ระดับ 1 บาทต่อลิตร โดยกองทุนน้ำมันรับภาระที่ 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งมาตรการลดราคาเบนซิลจะไม่ใช่การตรึงราคาแต่จะเป็นการลดราคาและจะสิ้นสุดสิ้นเดือนม.ค. 2567 นี้
อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูว่าวันนี้ (12 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมีความคืบหน้าในงานแถลงผลงานกับสื่อมวลชนในเรื่องนี้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาทราบว่ามีการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอให้ต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงมาตรการลดราคากลุ่มเบนซินที่จะหมดลงในสิ้นเดือนนี้ด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังคงต้องจับตาทิศทางราคาพลังงานโลก โดยมองว่าราคาพลังงานในช่วงนี้จะยังคงทรงตัว ซึ่งน้ำมันดีเซลตลาดโลกจะอยู่ที่ระดับ 95-100 ล้านดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งปัจจัยหลักต้องดูปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสว่าจะมีการขยายวงอีกหรือไม่ ดังนั้น ยังมองว่ากระทรวงพลังงาน ยังคงสามารถดูแลราคาน้ำมันได้
อย่างไรก็ตาม ในการรักษาระดับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) จามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2566 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567 นั้น ถือว่ากองทุนน้ำมันไม่ได้รับภาระตรงนี้มากนัก จะเห็นได้จากบัญชีที่ติดลบของ LPG นั้นติดลบกว่า 40,000 ล้านบาท มาเป็นเวลานาน แต่บัญชีดีเซลซึ่งตอนนี้เริ่มติดลบขยับขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับฐานะทางการเงินขิงกองทุนน้ำมันวันที่ 7 ม.ค. 2567 พบว่า ติดลบรวม 80,101 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันดีเซลติดลบ 33,984 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 46,117 ล้านบาท โดยได้มีการกู้เงินเพื่อมาเสริมสภาพคล่องเข้ามาในบัญชีแล้วรวม 75,000 ล้านบาท
"ต้องรอดูว่ารมว.จะขอให้คลังเข้ามาร่วมรับภาระได้เท่าไหร่ และจะมีการต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันเบนซินต่อหรือไม่ เพราะตอนนี้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนดีเซลเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร เดือนละประมาณ 4,000 ล้านบาท อีกไม่นานก็จะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง ซึ่งตอนนี้บัญชี LPG แม้จะไม่ขยับมาก แต่ก็จะมีเพดานการติดลบที่ 48,000 ล้านบาท ซึ่งถึงวันนั้นก็ต้องมาดูว่ากองทุนน้ำมันฯ จะใช้วิธีขยายเพดานวงเงินติดลบหรือใช้วิธีไหนเข้ามาช่วย"