ปตท. ชี้มาตรการอุ้ม "ค่าไฟ" กดธุรกิจวูบ 1.08 หมื่นล้าน

13 ม.ค. 2567 | 06:11 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2567 | 07:23 น.

ปตท. ชี้มาตรการอุ้ม "ค่าไฟ" ส่งผลให้กดธุรกิจวูบ 1.08 หมื่นล้าน ระบุวางแผนหามาตรการในการลดผลกระทบ ทั้งปรับแผนเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ เสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อบรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่าได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 66 เรื่องมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของปตท. ได้แก่

  • การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ 
  • การส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซฯ ได้ต้ามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯ (Shortfall)

การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ตามมาตรการข้างต้นส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย พม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (Pool Gas) จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่จะปรับสูงขึ้นยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ

ทั้งนี้ มาตรการข้างต้นเป็นมาตรการระยะสั้นจนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ อย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แล้วเสร็จ ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบเบื้องต้นในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2567 จะทำให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500ล้านบาท

"ปตท."ชี้มาตรการอุ้ม"ค่าไฟ"กดธุรกิจธุรกิจวูบ 1.08 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี ปตท. ได้วางแผนเพื่อหามาตรการในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การปรับแผนการเดินเครื่องของโรงแยกก๊าซฯ (Optimization) การเสนอแนวทางการจัดหา LNG เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกรอบราคาค่าไฟฟ้าตามนโยบายภาครัฐ รวมถึง ปตท. จะหารือกับกระทรวงพลังงานถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯในภาพรวมทุกด้าน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกัน

สำหรับในส่วนของ Shortfall ซึ่งกกพ. ได้มีคำสั่งว่าปตท. คำนวณราคา Pool Gas ไม่ถูกต้อง และให้ ปตท. นำShortfall ช่วงเดือนตุลาคม 2563 -ธันวาคม 2565 มูลค่ารวมประมาณ 4,300 ล้านบาท มาคำนวณในราคาPool Gas นั้น ปตท. เชื่อว่า ปตท. ได้คำนวณราคา Pool Gas ถูกต้องและเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และประกาศกกพ. ที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งถูกต้องตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ มาโดยตลอด ทางปตท. จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดักล่าวต่อ กกพ. ต่อมาปรากฏว่า กกพ. ได้มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของ ปตท. โดยให้ปตท. ปฏิบัติตามคำ สั่งทันทีและหาก ปตท. ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ กกพ. ปตท. มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง หรือยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาชี้ขาดการยุติข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐและการดำเนินคดี พ.ศ. 2561 ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ กกพ.

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของกกพ.คณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมนัดพิเศษ คร้ังที่1/2567 เมื่อวันที่12 มกราคม 2567จึงได้มีมติอนุมัติให้ปตท. ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ กกพ.โดยปตท.จะพิจารณาแนวทางดำเนินการหรือการใช้สิทธิตามกฎหมายที่จำเป็นและสมควรต่อไป