นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยถึงนโยบายของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องการตรึงราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟตลอดปี 67 ว่า หากพิจารณาจากต้นทุนปัจจุบันจนถึงแนวโน้มตลอดปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถตรึงค่าไฟให้อยู่ระดับ 4.20 บาทต่อหน่วยใน 2 งวดที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค. 67 และก.ย.-ธ.ค. 67) ได้
โดยเพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 67) ซึ่งอยู่ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วยเล็กน้อย เนื่องจากงวดปัจจุบันมีเงินชอตฟอลล์ (Shortfall) หรือเงินค่าปรับที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้จาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ผลิตก๊าซธรรมชาติไม่เป็นไปตามสัญญา วงเงิน 4,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนลด 5-6 สตางค์ต่อหน่วย
ทั้งนี้ ค่าไฟระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย จะต้องมีปัจจัยหนุน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ปริมาณก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณเป็นไปตามที่ระบุในสัญญาคือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายนนี้ รวมถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมาเป็นไปตามที่กำหนด และราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจร (LNG Spot) คงระดับ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านลูกบาศก์ฟุต
"2งวดที่เหลือของปีนี้ไม่มีเงินชอตฟอลล์มาช่วย แม้กระทรวงพลังงานจะให้กกพ.พิจารณาเงินชอตฟอลล์ตกค้างในอดีต แต่ต้องใช้เวลาและกระบวนการทางกฎหมายที่รอบคอบ ยังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้ ทำให้ต้องลุ้น 3 ปัจจัยหนุนว่าจะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ และสามารถคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เท่าไหร่ หรือมีนโยบายด้านใดเข้ามาสนับสนุนอีก"นายคมกฤชกล่าว
นายคมกฤช กล่าวอีกว่า กรณีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนวทาง"ลดค่าไฟ"ระยะสั้น 3.60 บาทต่อหน่วย และระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะโครงสร้างปัจจุบันทำให้ต้นทุนไฟงวดนี้อยู่ที่ 4.30 บาทต่อหน่วยแล้ว
แต่ได้ปรับโครงสร้างก๊าซฯ ทำให้ค่าไฟขยับลงมา 4.20 บาทต่อหน่วย และได้เงินชอตฟอลมาเสริมจนเหลือ 4.18 บาทต่อหน่วย อีก 2 งวดที่เหลือของปีนี้ด้วยโครงสร้างที่มีอยู่ราคาที่ถูกสุดคือ 4.20 บาทต่อหน่วย ไม่ใช่ 3.60 บาทต่อหน่วย
ส่วนข้อเสนอกดค่าไฟระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยนั้นคงยาก เพราะปัจจุบันมีการรื้อโครงสร้างก๊าซทุกแนวทางแล้ว หากต้องการได้ค่าไฟถูกลงอีก อาจต้องมีผู้ที่ขาดทุน หรือต้องแยกการเก็บค่าไฟเป็นพื้นที่ อย่างในกรุงเทพฯ ต้นทุนค่าไฟถูกกว่าต่างจังหวัดที่มีต้นทุนจากการเดินสายส่งไกลกว่า แต่ไทยใช้ราคาค่าไฟเฉลี่ยทั่วประเทศ ต้องถามว่าจะยอมแยกหรือไม่ เพื่อให้คนกรุงเทพฯจ่ายถูกกว่าคนต่างจังหวัด
นอกจากนี้ต้องดูต้นทุนอื่นที่ถูกบวกเข้าไปเป็นค่าไฟแฝงด้วย อาทิ นโยบายค่าไฟฟรี 50 หน่วย หรือไฟฟ้าตามทางหลวง และถนนสาธารณะประชาชนที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ความจริงแล้วคนไทยทั้งประเทศรับภาระแทน
สำหรับการลดค่าไฟงวดปัจจุบัน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้ศึกษาต้นทุน ปริมาณก๊าซฯ และภาระที่ต้องคืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ประเมินตัวเลขภาระกฟผ. งวดก.ย.-ธ.ค. 66 น่าจะออกช่วงเดือนมีนาคมนี้ โดยประเมินเบื้องต้นน่าจะอยู่หลักหมื่นล้าน ส่งผลให้ภาระที่กฟผ.ต้องรับสะสมล่าสุดระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากเคยรับภาระสูงสุดที่ 1.5 แสนล้านบาท งวดเดือนก.ย.-ธ.ค. 65
"มีคำถามว่าช่วงนี้ราคานำเข้าแอลเอ็นจีถูกลง ทำไมไม่รีบสต็อก ปัญหาคือประเทศไทยมีถังเก็บไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีแค่ 4 ถัง ช่วงที่ขาดก๊าซแค่ 3 วัน แอลเอ็นจีหมดไป 1 ถัง ปีที่ผ่านมานำเข้าเฉพาะแอลเอ็นจี สปอต อย่างเดียวกว่า 90 ลำ คาดว่าปี 2567 ตัวเลขการใช้จะใกล้เคียงกัน ไม่รวมสัญญาซื้อขายแอลเอ็นลองเทอม หรือระยะยาวอีก 55 ล้านตัน"