"GPSC"รุกสร้างต้นแบบเพิ่มศักยภาพช่างฝีมือแห่งแรกในระยองรับอุตฯ"EV"โต

30 ม.ค. 2567 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2567 | 07:56 น.

"GPSC"รุกสร้างต้นแบบเพิ่มศักยภาพช่างฝีมือแห่งแรกในระยองรับอุตฯ"EV"โต เดินหน้าร่วมมือวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยองทำโครงการ  EV One Stop Service ถ่ายทอดองค์ความรู้ เพิ่มทักษะอาจารย์ และนักศึกษา  

นางปริญดา มาอิ่มใจ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง 

ทั้งนี้ เพื่อสร้างต้นแบบศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร และติดตั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) จากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้โครงการ  EV One Stop Service 

สำหรับรองรับการขยายตัวการใช้ EV ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำมาสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มทักษะให้กับ ครู อาจารย์ และนักศึกษา ผ่านผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าของ GPSC เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ 

และยังเป็นการลดมลพิษทางอากาศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี สอดรับกับนโยบายของ GPSC ที่มีเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2603 ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม

"GPSC"รุกสร้างต้นแบบเพิ่มศักยภาพช่างฝีมือแห่งแรกในระยองรับอุตฯ"EV"โต

นายวีระชัย  สมบัติกำไร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง กล่าวว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของระยองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การซ่อมบำรุงจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ใช้รถดังกล่าว   

รวมถึงราคาการเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร จะสามารถรองรับการให้บริการซ่อมบำรุง และลดภาระค่าใช้จ่ายให้ชุมชนในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังกระตุ้นการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น 

"ความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้นักศึกษาของวิทยาลัยฯ ได้พัฒนาฝึกฝนศักยภาพด้านช่างหลากหลายวิชา นำมาประยุกช์ให้เกิดความรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติ เพื่อต่อยอดในการศึกษาสาขายานยนต์ไฟฟ้า สร้างรายได้ในอนาคต"

ศูนย์ซ่อมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า บริเวณพื้นที่ใต้อาคารช่างยนต์ และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณศูนย์ซ่อมฯ และหน้าร้าน Quinine Café ซึ่ง GPSC ได้ติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาอาคารอำนวยการ จำนวน 10 แผง รวมขนาดกำลังผลิต 5.5 กิโลวัตต์ และสนับสนุนนวัตกรรม องค์ความรู้ และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปเป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 

โดยจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาทักษะของนักศึกษาอาชีวศึกษาแห่งแรกในจังหวัดระยอง ที่ให้บริการปรึกษา ซ่อมบำรุง เปลี่ยนแบตเตอร์รี่ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผ้าเบรก ล้อยาง ระบบไฟฟ้า ระบบจอแสดงผล กล่องควบคุมต่างๆ ให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และยังช่วยสร้างการตระหนักรู้แก่ชุนชนและผู้มีส่วนได้เสียถึงผลดีในระยะยาวของยานยนต์ไฟฟ้าที่ภาครัฐให้การส่งเสริม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับเป้าหมายขององค์กรและประเทศในการเดินหน้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์