ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง เกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงวันที่ 5 มีนาคม 2567 ถึงบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
โดยที่ศาลได้ตรวจพิจารณาคำฟ้อง คำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของ บริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี, คำชี้แจงของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี, และพยานหลักฐานต่างๆในสำนวนคดี
เมื่อศาลพิจารณาระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า การคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าจะพิจารณาตามลำดับคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิค ของเอกสารแสดงความพร้อมทางด้านเทคนิคโดยมีขั้นตอนต่างๆ
ซี่งศาลเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดหลักการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าอย่างกว้าง ที่กำหนดให้การพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จะต้องดำเนินการโดยเรียงตามลำดับคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคจากมากไปหาน้อย และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน ซึ่งเป็นการว่างกรอบแนวทางวิธีปฏิบัติให้คณะกรรมการ กกพ. จะต้องดำเนินการคัดเลือกด้วยวิธีการอย่างไรเท่านั้น
โดยไม่ได้มีการกำหนดค่าคะแนนของการประเมินความพร้อมทางด้านเทคนิค 5 ด้าน อันได้แก่ 1.ความพร้อมด้านพื้นที่ ,2.ความพร้องด้านเทคโนโลยี ,3.ความพร้อมด้านเชื้อเพลิต ,4.ความพร้อมการเงิน และ5.ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงานไว้แต่อย่างใด
หลักเกณฑ์การประเมินคะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิคและวิธีการคัดเลือกที่คณะอนุกรรมการการคัดเลือก ที่แต่งตั้งโดย กกพ. ได้กำหนดขึ้น ไม่ได้ประกาศเผยแพร่เป็นการทั่วไป ไม่ได้เป็นการเปิดเผยหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ทราบกันโดยทั่วไปที่ผู้ยื่นคำขอผลิตไฟฟ้าทุกรายจะสามารถตรวจสอบและทราบได้ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาคัดเลือก
การที่คณะอนุกรรมการที่ คณะกรรมการ กกพ. แต่งตั้งได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินการให้คะแนนความพร้อมทางด้านเทคนิค แต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการพิจารณาประเมินการให้คะแนน ของคณะอนุกรรมการของ คณะกรรมการกกพ. เนื่องจากไม่ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า และอาจมีการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ซึ่งอาจทำให้กระบวนการพิจารณาคัดเลือกขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม
จึงเห็นได้ว่า การดำเนินการตามประกาศ คณะกรรมการ กกพ. เรื่อง ประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี ๒๕๖๕-๒๕๗๓ สำหรับพลังงานลม พ.ศ. 2565 ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อดำเนินการเพื่อคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว มติผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย
และประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการ กกพ. จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน ซึ่งหากปล่อยให้การพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารวมถึงการประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า มีผลบังคับใช้ต่อไป อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้ ซึ่งมีอายุสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า เป็นเวลาถึง 25 ปี จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลังต่อรัฐและผู้ฟ้องคดี
นอกจากนี้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามโครงการที่พิพาทนี้มีวัตถุประส่งค์เพื่อสนับสนุน ให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์เท่านั้น จึงมิได้เป็นโครงการที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน การชะลอหรือระงับมติของคณะกรรมการ กกพ. จึงไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคหรือส่งผลกระทบแก่การบริหารงานของรัฐหรือบริการสาธารณะแต่อย่างใด
ศาลจึงมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ที่พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าจำนวน 175 ราย เฉพาะในส่วนที่ไม่มีรายชื่อของผู้ฟ้องคดี และทุเลาการบังคับตามประกาศของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 สำหรับพลังงานลม จำนวน 22 ราย ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น