DNA ความยั่งยืน ขับเคลื่อน กฟผ. สู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานสีเขียว

08 พ.ค. 2567 | 02:30 น.

หน่วยงานพลังงานชั้นนำของประเทศไทย อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนและเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว โดยได้พยายามปลูก "DNA ความยั่งยืน" ไว้เป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินงานขององค์กร

โลกกำลังเผชิญหน้ากับ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” และ “ภาวะโลกร้อน” อย่างรุนแรง “ความยั่งยืน” จึงกลายเป็นคำตอบที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในฐานะผู้นำด้านพลังงานของประเทศ ตระหนักถึงความจำเป็นนี้เป็นอย่างดี และได้ผนวกแนวคิดการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน หรือ "ปลูก DNA ความยั่งยืน" ลงในแก่นแท้ของ กฟผ.

ผ่านการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้าสู่พันธกิจ กลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้ทุกหน่วยงานและบุคลากรของ กฟผ.ได้ร่วมสานพลังในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายสูงสุดด้านความยั่งยืน รวมทั้งดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ในการสร้างจิตสำนึกแก่พนักงาน ผู้บริโภค ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ให้หันมาร่วมกันลงมือปฏิบัติเพื่อปกป้องโลกใบนี้ไปพร้อมกัน

DNA ความยั่งยืน ขับเคลื่อน กฟผ. สู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานสีเขียว

หนึ่งในภารกิจสำคัญของ กฟผ. คือการสร้างจิตสำนึกให้ผู้บริโภคใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการจัดทำโครงการ "การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า" (Demand Side Management: DSM) โดยมีการออกฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกตามประเภทของผู้ใช้ไฟฟ้า คือ กลุ่มภาคที่อยู่อาศัย กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มภาอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 40 โครงการ  ด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “3 อ.” คือ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า และอุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า สามารถกระตุ้นให้เกิดการลดปริมาณการใช้ไฟฟ้ากว่า 35,600 ล้านหน่วย หรือประมาณ 1.78 แสนล้านบาท และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศลงกว่า 19.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

DNA ความยั่งยืน ขับเคลื่อน กฟผ. สู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานสีเขียว

กฟผ. ได้ปรับปรุงเกณฑ์ฉลากฯ อย่างต่อเนื่องให้มีความท้าทายและเข้มงวดมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 กฟผ. ได้เปิดตัว "ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว" รูปแบบใหม่ ที่ยกระดับความเข้มข้นของการประหยัดพลังงานไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยปรับปรุงเกณฑ์การจัดระดับประสิทธิภาพจากเดิม 1-3 ดาว เป็น 1-5 ดาว เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงที่ประหยัดพลังงานได้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าไปในฉลากรุ่นใหม่ เช่น การแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดภาวะโลกร้อนด้วยการเลือกใช้อุปกรณ์เบอร์ 5 ติดดาวสูงๆ รวมทั้งยังได้เพิ่มสัญลักษณ์ "เศรษฐกิจหมุนเวียน" เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และมี QR Code เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลรายละเอียด วิธีการใช้งาน การติดตั้ง การบำรุงรักษา ตลอดจนข่าวสารที่เกี่ยวข้องได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

โครงการ "โรงเรียนเบอร์ 5" เป็นโครงการที่ กฟผ. จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาบูรณาการองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกกิจกรรมของโรงเรียน โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการต้องผ่านเกณฑ์ 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่

  1. โรงเรียนสีเขียว เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ที่ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. โรงเรียนคาร์บอนต่ำ มุ่งลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบริเวณโรงเรียนให้ได้มากที่สุด
  3. โรงเรียนคาร์บอนต่ำสู่ชุมชน ขยายผลการลดการใช้ไฟฟ้าจากโรงเรียนสู่บ้านของนักเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนรอบข้าง
  4. อาคารเบอร์ 5 ในสถานศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยกระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการ "ห้องเรียนสีเขียว" และ "โรงเรียนเบอร์ 5" กฟผ. มีเยาวชนผ่านโครงการแล้วกว่า 4 ล้านคน และมีเครือข่ายโรงเรียนที่เข้าร่วมกว่า 1,300 แห่งทั่วประเทศ ถือเป็นการปลูกฝังแนวคิดการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง

กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศผ่านโครงการ "ปลูกป่า กฟผ." ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ หลังจากนั้น กฟผ. ได้ต่อยอดสู่โครงการ "ปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม" เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2565 ร่วมกับพันธมิตรและประชาชนในพื้นที่ ด้วยเป้าหมายการปลูกป่า 1 ล้านไร่ภายในระยะเวลา 10 ปี (2565-2574)

โดยส่งเสริมให้ชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ในการปลูกป่าและบำรุงรักษาพื้นที่ป่าด้วยกล้าไม้พันธุ์ดี เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ พัฒนาต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติให้เป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศ ผลักดันโครงการที่เสริมสร้างการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ

โครงการนี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ถึง 23.6 ล้านตันตลอดระยะเวลาของโครงการ นอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกด้วย

แนวทางการดำเนินงานที่ กฟผ.ยึดมั่นมากว่า 55 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันองค์กรเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานสีเขียว ในการผนวกแนวคิดความยั่งยืนอย่างลึกซึ้งไปในทุกกระบวนการดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกับสังคมไทยเพื่อปลูกฝัง DNA ความยั่งยืนให้แก่คนรุ่นหลัง และขับเคลื่อนภารกิจสร้างโลกสีเขียวร่วมกันอย่างแข็งขัน

DNA ความยั่งยืน ขับเคลื่อน กฟผ. สู่การเป็น “ผู้นำ” ด้านพลังงานสีเขียว