โลกอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ผลกระทบจาก “ภาวะโลกร้อน” เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงและผิดปกติยิ่งขึ้น เช่น คลื่นความร้อนสุดขั้ว ภัยแล้ง ไฟป่า และน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์
สัญญาณเตือนเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ยุควิกฤตพลังงาน” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก การรักษาความมั่นคงด้าน “พลังงานไฟฟ้า” ของประเทศจึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเผชิญ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ยังคงประสานพลังอย่างเต็มกำลังเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ความท้าทายในการดำเนินงานของ กฟผ. ไม่ได้มีเพียงการจัดหาและผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อให้การดำเนินงานด้านพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
ด้วยความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในทุกกระบวนการทำงาน กฟผ. จึงถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ก้าวพ้นวิกฤตพลังงานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน บทบาทของ กฟผ. จะเป็นเช่นไรในยุคที่พลังงานกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญนี้คงต้องย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น
55 ปี กฟผ.ก้าวแรกสู่ภารกิจสร้างความมั่นคงพลังงานไทย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. สานต่อบทบาทสำคัญในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมายาวนานกว่า 55 ปี เพื่อมอบอนาคตที่ยั่งยืนแก่คนไทย ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน สะท้อนจากทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ.โดย นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กำหนด 5 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ (1) ความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย (2) ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (3) ดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม (4) เป็นเครื่องมือในการตอบสนองนโยบายรัฐ และ (5) การนำส่งรายได้เข้ารัฐ
ภารกิจสำคัญที่สุดคือ “ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทย” เนื่องจากไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของเศรษฐกิจ เป็นต้นทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมและประเทศ ขณะเดียวกันการจะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุน เขาดูว่าระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพหรือไม่และราคาค่าไฟสมเหตุสมผลไหม ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
55 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรม มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมาก รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้จัดตั้ง "การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย" หรือ "กฟผ." เพื่อเป็นหน่วยงานหลักดูแลการผลิตและจัดสรรกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 จากการรวมกันของ การไฟฟ้ายันฮี การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ และการลิกไนท์ มุ่งมั่นพัฒนาแหล่งผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค ด้วยการผสมผสานทั้ง “พลังงานไฟฟ้าพลังน้ำ” และ “พลังความร้อน” อย่างเหมาะสม
กฟผ. สามารถขยายกำลังการผลิตจากเพียง 908 เมกะวัตต์ในช่วงแรกเริ่ม จนกระทั่ง ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 16,261 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.75% ของกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กฟผ. ยังคงพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยปัจจุบันมีความยาวรวมกว่า 39,000 วงจร-กิโลเมตร และสถานีไฟฟ้าแรงสูงรวม 237 แห่งทั่วประเทศ พร้อมมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ และรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
บทบาท กฟผ. ผู้นำพาประเทศฝ่าวิกฤตสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ด้วยบทบาทสำคัญในทุกภาวะวิกฤต กฟผ. เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่คอยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤตและสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างมั่นคง นับตั้งแต่วิกฤตราคาน้ำมันในปี 2516 และ 2522 กฟผ. ได้เสาะหาแหล่งพลังงานทางเลือกและเป็นผู้นำการเจรจานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้า ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวและพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาต่อมา
เช่นเดียวกับในวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนปี 2565 ที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก กฟผ.ได้ร่วมฝ่าวิกฤตโดยปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 4 ที่เคยปลดระบบเมื่อปี 2562 ให้กลับมาผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำอีกครั้ง และเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะหน่วยที่ 8 ออก เพื่อลดการนำเข้า LNG ราคาแพง รวมทั้งรับภาระค่าเชื้อเพลิงบางส่วนแทนประชาชนตามนโยบายของรัฐ เพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า
นอกจากบทบาทด้านการผลิตไฟฟ้าแล้ว กฟผ. ยังเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ที่ดำเนินธุรกิจแทนรัฐ โดยนำส่งกำไรเป็นรายได้ของรัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ สนับสนุนเสถียรภาพการคลังของประเทศ และสนองนโยบายต่างๆ เช่น การเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่ เพื่อลดต้นทุนผลิตไฟฟ้า หรือการร่วมลงทุนโครงการ LNG Terminal เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานและผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง LNG ในอาเซียน
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ กฟผ. ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี การหาแหล่งเชื้อเพลิง การกระจายระบบจำหน่ายไปทั่วประเทศ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่น และทุ่มเทของ กฟผ. ทำให้องค์กรสามารถบรรลุภารกิจในแต่ละช่วงเวลาอย่างแข็งขัน และก้าวผ่านอุปสรรคมาสู่จุดนี้ได้
เส้นทางการเติบโตของ กฟผ. สะท้อนให้เห็นว่า กฟผ.มีบทบาทมากกว่าเพียงแค่ผู้จัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำและผู้สนับสนุนในหลายภารกิจสำคัญ อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและหมุนเวียน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้และเสริมสร้างความตระหนักแก่สังคม และการร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ
หากย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น อาจเป็นเพียงแค่ก้าวแรกในการจัดตั้งองค์กรเพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้แก่ประชาชนไทยอย่างทั่วถึง แต่วันนี้เรียกได้ว่า กฟผ. ได้ก้าวข้ามประตูสู่ความยิ่งใหญ่และยั่งยืนเพื่อทั้งประเทศ ด้วยความตั้งใจจริงจากการดำเนินงานตามเส้นทางภารกิจที่ทำให้ “ระบบไฟฟ้าของประเทศ” เติบโตอย่างมีคุณภาพและมั่นคงยั่งยืนตลอด 55 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบัน กฟผ. กำลังผลักดันการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมในการรองรับพลังงานทดแทนจากแหล่งกระจายศูนย์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 ตามแผนระยะยาวของประเทศ