ภาคขนส่งบุกทำเนียบฯ 11 มิ.ย. จี้นายกฯ "ตรึงราคาน้ำมันดีเซล" 30 บาท

04 มิ.ย. 2567 | 03:14 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2567 | 03:14 น.

ภาคขนส่งบุกทำเนียบฯ 11 มิ.ย. จี้นายกฯ "ตรึงราคาน้ำมันดีเซล" 30 บาท หลังราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบชนเพดาน 33 บาท เผยเคยทำหนังสือไปแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่มีคำตอบที่จะรับนัดแต่อย่างใด

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาชิกที่เป็นสมาคมด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 12 สมาคม ได้ประชุมร่วมกันอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางถึงเรื่องดังกล่าว 

โดยมีมติร่วมกันว่าวันที่ 11 มิ.ย. 2567 เวลา 10.00 น. ทั้ง 12 สมาคม ภาคประชาชนและเกษตรกรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 100 คน จะรวมตัวกันเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลขอพบนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอทราบนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าว และจะขอให้พิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ จากวันที่ 16 พ.ค. 2567 สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือกรณีที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่องและวันที่ 31 พ.ค. ราคาอยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร เกือบชนเพดาน 33 บาทต่อลิตรแล้วนั้น ถึงขณะนี้สมาพันธ์ฯ ยังไม่ได้รับการตอบรับจากนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี สหพันธ์ฯได้ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งแล้ว แต่ไม่มีคำตอบที่จะรับนัด และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ยังโยนเรื่องให้ไปพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เหมือนมองข้าม การไปทำเนียบฯ ในครั้งนี้เป็นการส่งสารว่าเดือดร้อน ถ้ายังไม่มีการตอบรับจะยกระดับไปอีกขั้น

“ตอนนี้แม้ดีเซลจะขึ้นราคา แต่ภาคขนส่งยังไม่ได้ขึ้นค่าขนส่งกับลูกค้า เพราะเข้าใจในความเดือดร้อน ซึ่งหากขึ้นราคาจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ขยับตามไปด้วย แต่ถ้าน้ำมันเกิน 33 บาทต่อลิตร สุดท้ายถ้ารับภาระไม่ไหว ก็จำเป็นต้องปรับค่าขนส่งขึ้น ซึ่งน้ำมันขึ้นทุก 1 บาท จะปรับขึ้น 3% ดังนั้นถ้าน้ำมันแตะ 33 บาทต่อลิตร เท่ากับต้องปรับค่าขนส่งขึ้น 9% ต่อไปถ้าผู้ว่าจ้างไม่ไหว ภาคขนส่งเองก็ไม่ไหว คงต้องหยุดวิ่ง”

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่าว่า ปัจจุบันแม้ไม่มีการปรับราคาค่าขนส่งขึ้น งานยังไม่มี ซึ่งวันนี้ได้รับรายงานจากสมาชิกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือ ต้องนำรถคืนให้กับไฟแนนซ์ไปร่วม 1,000 คัน เพราะรับภาระต้นทุนไม่ไหว งานก็ไม่มี ราคาพืชไร่ก็ไม่ดี ก็ไม่มีการซื้อขายกัน