พลังงาน-นักวิชาการ ยันเปิดแอร์ 27 องศา-พัดลมลดค่าไฟจริง

11 มิ.ย. 2567 | 03:53 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 04:46 น.

"พลังงาน-นักวิชาการ" ยันเปิดแอร์ 27 องศา-พัดลมลดค่าไฟจริง แจงกรณีผู้ใช้ TiktoK โพสต์ เปิดแอร์ 27 องศาและเปิดพัดลมแล้วค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่สมเหตุสมผลและขาดข้อมูลตัวแปรอื่น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ใช้ Tiktok รายหนึ่ง ได้โพสต์ถึง ทฤษฎีเปิดแอร์ 27 องศาแล้วเปิดพัดลม จะช่วยลดค่าไฟได้ครึ่งนึง จริงไหม โดยระบุว่า 

เปิดแอร์ 27 องศาและเปิดพัดลมค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1,000 หน่วย เป็น 1,200 หน่วย เพิ่มขึ้นจากพัดลม 3 ตัว จากกรณีดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัยซึ่งไม่มีข้อมูลประกอบเพียงพอต่อการวิเคราะห์ว่าปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใด  

พฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ากับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร หากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลงสามารถวิเคราะห์เป็นค่าคงที่ และตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปเกิดจากการปรับตั้งอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสแล้วเปิดพัดลมช่วย จึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือลดลง
 

กรณีพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลง การปรับตั้งอุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ยังคงมีตัวแปรอื่นที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัดกว่าเดือนก่อน โดยมีอุณหภูมิภายนอกสูง การทำงานของเครื่องปรับอากาศก็จะใช้กำลังไฟฟ้าในการทำงานมากขึ้น  หรือจากสาเหตุเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำงานแบบอัตโนมัติเกิดความบกพร่องจนทำงานตลอดเวลา  

ส่วนในกรณีการเปิดพัดลมพร้อมเปิดเครื่องปรับอากาศแล้วค่าไฟเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปบ้านพักจะใช้พัดลมขนาด 16 นิ้ว เมื่อเปิดความเร็วสูงสุดเบอร์ 3 จะใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 80 วัตต์ และหากเปิดตลอดเวลาทั้งเดือนจะใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 80/1000 x 24 x 30 =57.60 หน่วย/เดือน/ตัว

ซึ่งถ้าเปิดพัดลม 3 ตัว จะใช้ไฟฟ้า 172.80 หน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าประมาณ 5 บาท/หน่วย เป็นเงินค่าไฟฟ้าที่เปิดพัดลม 3 ตัว เท่ากับ 864 บาท ดังนั้นกรณีการกล่าวอ้างว่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 1,000หน่วย/เดือน เป็น 1,200 หน่วย/เดือน จึงเป็นการกล่าวไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากการใช้งานจริงอาจไม่ได้เปิดพัดลมตลอดเวลาโดยไม่ปิดพัก และหากเปิดไว้จริงปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่สามารถเพิ่มได้เป็นจำนวน 200หน่วย/เดือน ตามที่อ้าง

ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ การเปิดพัดลมช่วยหมุนเวียนอากาศพร้อมการเปิดเครื่องปรับอากาศโดยตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 27 องศาเซลเซียส จะช่วยลดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ลงได้ประมาณ 10-30% ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมอื่นด้วย เช่น อุณหภูมิแวดล้อมเวลาที่เปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศ ,การล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ ฯลฯ เป็นต้น โดยสรุปการกล่าวอ้างว่า ทฤษฎีเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส แล้วเปิดพัดลม ค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 1,000 หน่วย/เดือน เป็น 1,200 หน่วย/เดือน จากสาเหตุเปิดพัดลม 3 ตัว เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีข้อมูลประกอบอื่นๆ เพียงพอในการพิสูจน์เป็นข้อเท็จจริงได้ว่าค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเกิดจากสาเหตุใด

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ข้อมูลว่า ที่ค่าไฟของสาวคนดังกล่าวเกิดเพิ่มขึ้น อาจจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นภายในบ้าน แต่จากการวัดผลพบว่าการเปิดแอร์ 27 องศาช่วยลดค่าไฟได้จริง ประมาณ 20% – 50% 

ประเด็นสำคัญที่ต้องคิดคือ คลิปการทดลองดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยว่าที่ทำการทดลองไปหนึ่งเดือนนั้น ได้ควบคุมปัจจัยอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะจากเครื่องแอร์ พัดลม รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นในบ้าน ให้เหมือนกันตลอดทั้งสองเดือนที่นำมาเทียบกัน  

เมื่อย้อนกลับมาดูที่คลิปติ๊กต๊อก ที่บอกว่าการเปิดวิธีเปิดแอร์ ทำให้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 200 หน่วย ซึ่งขึ้นสูงกว่าเดิมมากถึง 20% จากเดิม ก็น่าสงสัยมาก ว่าจริงๆ แล้ว ได้มีการใช้งานแอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ หนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยหรือเปล่า ถึงได้มีหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นขนาดนั้น

รศ.ดร.เจษฎา กล่าวด้วยว่า โดยสรุป การทดลองในคลิปติ๊กต๊อกที่แชร์กันนั้น ยังไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องการควบคุมตัวแปรต่างๆ และยังเชื่อว่าการเปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมช่วยทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ มากกว่าการเปิดแอร์ 25 องศา โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นแอร์ Inverter ยิ่งประหยัดขึ้นไปอีก ไม่น่าจะทำให้กินไฟขึ้นมาก อย่างในคลิปดังกล่าว
 
รศ.ดร.เจษฎา ยังได้แนะนำประชาชนถึงการใช้เครื่องปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน เช่น การปรับแอร์ที่ 27 องศา พร้อมเปิดพัดลม ,การล้างแอร์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ,เครื่องปรับอากาศแบบ Inverter จะช่วยประหยัดไฟได้มากกว่า และหากต้องการลดค่าไฟ ก็ให้ลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆที่ไม่จำเป็นควบคู่ไปด้วย และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้จริง