"สร.กฟผ." ร้องให้บรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีในแผน PDP 2024

11 มิ.ย. 2567 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2567 | 12:00 น.

"สร.กฟผ." ร้องให้บรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีในแผน PDP 2024 หลังถูกถอดถอนออกจากแผน PDP 2018 พร้อมให้เหตุผลต้นทุนค่าก่อสร้างท่อส่งก๊าซสูงไม่คุ้มค่าการลงทุนและมีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า

ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ปี 2555 - 2573 ซึ่งจัดทำเป็นร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฯ ขึ้น 

แต่จะมีการถอดถอนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ออกจากแผน PDP 2018 โดยให้เหตุผลว่าต้นทุนค่าก่อสร้างท่อส่งก๊าซสูงไม่คุ้มค่าการลงทุนและมีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า อีกทั้งยังมีสายส่ง 500 เควี ที่มีความมั่นคง

ล่าสุดนางณิชารีย์  กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ระบุว่า สร.กฟผ.ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้างต้น จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ประกอบด้วย 
 

  • กฟผ. ได้ทบทวนการออกแบบโครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีใหม่แล้ว สามารถดำเนินการได้เองทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดหาเชื้อเพลิง ,การวางท่อก๊าซและการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีต้นทุนโครงการที่ไม่เกินกรอบค่าไฟฟ้าที่กำหนด จึงเห็นควรให้ กฟผ. ได้มีโอกาสในการดำเนินการโครงการนี้ต่อไป
  • ปัจจุบันภาคใต้มีความเจริญเติบโตทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอื่นสูงขึ้น และในอนาคตจะมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ เพื่อดูแลความมั่นคงและตอบสนองเหตุวิกฤตในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ดีกว่าการพึ่งพาจากระบบส่งไฟฟ้า
  • การมีสายส่งขนาด 500 เควี รองรับเพียงพออยู่แล้ว แต่จากสภาพความเป็นจริงสายส่งมีโอกาสเกิดเหตุการณ์สุดวิสัยจากภัยธรมชาติและเหตุที่ควบคุมไม่ได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ไฟดับได้ทันทีและตลอดเวลา ขณะที่กำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าภาคใต้ใกล้เคียงความต้องการการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ มีความเสี่ยงสูงมากหากสายส่งขัดข้องจากเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ และหรือโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่อง ก็จะกระทบต่อระบบในภาพรวมของภาคใต้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคใต้เหมือนกับในปี 2556 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชน ตลอดจนภาคธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบและเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งนี้ จากแผน PDP 2018 Rev.1 ซึ่งได้บรรจุโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีไว้ ด้วยเหตุผลที่ว่ากำลังการผลิตภาคใต้ไม่สามารถรองรับเหตุสุดวิสัยเหตุโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (N-1) ได้ ดังนั้นต้องพึ่งพากำลังการผลิตไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงระหว่างภาค เพื่อรักษาความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้จึงจำเป็นต้องจัดสรรให้มีโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี
  • ปัจจุบันโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานีได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง มีฉันทามติให้ก่อสร้างได้เรียบร้อยแล้ว และผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (คชก.) แล้วด้วย 

การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงเป็นหน้าที่โดยตรงของ กฟผ. ประกอบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ปี 2555 – 2573 ได้กำหนดไว้ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรโรงไฟฟ้าหลักเพิ่มเติม เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในแต่ละภาค โดยให้ลดการพึ่งพากำลังผลิตจากภาคอื่น ให้แต่ละภาคมีความมั่นคงจากกำลังผลิตของภาคตนเองเป็นอันดับแรก

"โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ที่มีขนาดกำลังการผลิตสุทธิ 1,400 เมกะวัตต์ จึงมีความจำเป็นและเหมาะสมตามแผน PDP 2018 อย่างมาก สร.กฟผ. จึงขอแสดงเจตนารมณ์เพื่อขอให้คงไว้และคัดค้านการพิจารณาถอดถอนโครงการดังกล่าว ทั้งที่มีความจำเป็นด้านความมั่นคงและสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้"