จับตา "ซีอีโอ ปตท." คนใหม่เปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรกวันนี้ ทบทวนแผนลงทุน 5 ปี

14 มิ.ย. 2567 | 00:19 น.

จับตา "ซีอีโอ ปตท." คนใหม่เปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรกวันนี้ ทบทวนแผนลงทุน 5 ปี หลังคงกระพัน อินทรแจ้ง เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการตั้บแต่วันที่ 13 พ.ค. 67 แทนอรรพล ฤกษ์พิบูลย์ครบเทอม 4 ปี

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ซีอีโอ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คนที่ 11 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 67 หลังจากที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอ ปตท. คนก่อน ซึ่งครบเทอม 4 ปีวันที่ 12 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ นายคงกระพัน มีกำหนดการจะแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน ปตท. ภายใต้ตำแหน่ง ซีอีโอ ครั้งแรกกับสื่อมวลชนวันนี้ (13 มิ.ย. 67) ที่ ปตท. สำนักงานใหญ่ ช่วงเวลาประมาณ  09.00 – 11.30 น.

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับงบลงทุนของ ปตท. ก่อนหน้านี้พบว่า

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีการแจ้งแต่อผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะกรรมการ ปตท. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ได้มีมติอนุมัติงบลงทุน 5 ปี (ปี 2567 - 2571) ของ ปตท. และบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 89,203 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้

ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณ 51%  

โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8 รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5

จับตา "ซีอีโอ ปตท." คนใหม่เปิดวิสัยทัศน์ครั้งแรกวันนี้ ทบทวนแผนลงทุน 5 ปี

อย่างไรก็ดี เพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” นั้น ปตท. ยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เช่น โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV) ครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า HorizonPlus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่3 และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

อย่างไรก็ตาม ปตท. ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอีกจำนวน 106,932 ล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel) 
 

ซึ่งจะมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้น ปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์ รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์(Life science) ซึ่งรวมถึงธุรกิจยาธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคต ตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งท้งัหมดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น มีกระแสข่าวระบุว่าจะมีการทบทวนแผนลงทุนหลักของ ปตท.ช่วง 5 ปี (2567-2571) ซึ่งมีวงเงิน 89,203 ล้านบาท เพื่อให้สอดรับกับแนวทาง หรือ นโยบายการทำงานในฐานะ CEO PTT

แหล่งข่าวกล่าวว่า แผน 5 ปีของ ปตท. จะลงทุน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 

  • ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34% 
  • ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% 
  • ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4% 
  • ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 14% 
  • การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินลงทุนรวม 27,822 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31% 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันปตท. สร้างรายได้ในปี 2565 กว่า 3 ล้านล้านบาท สินทรัพย์รวมกว่า 3.53 ล้านล้านบาท ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงาน