thansettakij
“พูลพัฒน์” เลขาฯ สำนักงาน กกพ.คนใหม่ ลุยเคลื่อนพลังงานสะอาด ค่าไฟเป็นธรรม
energy

“พูลพัฒน์” เลขาฯ สำนักงาน กกพ.คนใหม่ ลุยเคลื่อนพลังงานสะอาด ค่าไฟเป็นธรรม

    เปิดวิสัยทัศน์เลขาธิการสำนักงาน กกพ.คนใหม่ “ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” ยึดประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมดูแลค่าไฟฟ้าเป็นธรรม เผยค่าเอฟที เดือน ก.ย.-ธ.ค.ต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ลดลง ประกาศนำทัพบุคลากรรับมือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ดึงดูดนักลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้สัมภาษณ์ถึงวิสัยทัศน์หลังเข้ามารับตำแหน่งว่า จากนี้ไปการกำกับกิจการพลังงานของสำนักงาน กกพ.จะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหัวใจสำคัญอันดับแรก เพราะเชื่อว่าการการกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเป็นธรรมให้ธุรกิจสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจได้อย่างโปร่งใส โดยได้วางเป้าหมายที่จะกำกับดูแลค่าไฟฟ้าของประเทศให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และดูแลราคาพลังงานให้กระทบต่อค่าครองชีพของคนไทยให้น้อยที่สุด เนื่องจากมองว่าค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการติดตามต้นทุนราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปคิดคำนวณการปรับอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน- ธันวาคม 2567 ซึ่งจะมีตัวแปรที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นราคาก๊าซธรรมชาติ อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ff) นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

“เบื้องต้นจากการติดตามราคาก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในตลาดโลกมีทิศทางลดลงมาอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ถือเป็นผลบวกกับประชาชน ทางสำนักงาน กกพ. จะได้รวบรวมข้อมูลสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับการพิจารณาระดับนโยบายว่าจะมีทิศทางอย่างไรเกี่ยวกับค่าไฟ”

นอกจากนี้ ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน เพื่อรองรับความต้องการพลังงานสะอาดที่เข้ามาในระบบมากขึ้น รับมือกับภาวะโลกร้อนที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงรวดเร็ว การกำกับดูแลที่โปร่งใสจะทำให้เกิดความมั่นคงพลังงานที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุด สำนักงาน กกพ. จะมีการวางแผนการกำกับดูแลให้การเปลี่ยนผ่านมีความราบรื่นมากที่สุด และเปิดให้มีการแข่งขัน ทำให้ต้นทุนถูกลง ประชาชนได้รับประโยชน์จากการจ่ายค่าพลังงานที่ลดลง ในที่สุดเมื่อแหล่งผลิตพลังงานในอนาคตมีความปลอดภัย ไม่กระทบสิ่งแวดล้อมก็จะยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนตามมาด้วย

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจตอนนี้มีภาพการเคลื่อนย้ายทุนที่รวดเร็ว กำลังมองหาแหล่งที่จะปักหลักลงทุน การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอจะเป็นการดึงดูดการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งสำนักงานกกพ.จะทำหน้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค Energy Transition ให้เศรษฐกิจเติบโต ผ่านภาคพลังงานสะอาดที่เข้มแข็ง มีความมั่นคง เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่

ที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติได้สอบถามการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานสะอาดในไทย ไม่ว่าจะเป็น Google สนใจจะเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับ Data Center รวมถึงบริษัท อะเมซอน สนใจจะลงทุนในไทยเช่นกัน ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้เตรียมความพร้อมไฟฟ้าสีเขียวไว้รองรับการลงทุนทั้งนักธุรกิจของไทยและต่างประเทศแล้ว โดยการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวประเภท UGT 1 หรือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบไม่เจาะจงโรงไฟฟ้าในการขอรับบริการ (ไม่ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) ได้เปิดให้ผู้สนใจเริ่มซื้อไฟฟ้าสีเขียวประเภทนี้แล้ว

ส่วน UGT 2 เป็นอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มา (ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) อยู่ระหว่างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปรับปรุงกฎระเบียบและกระบวนการต่างๆให้แล้วเสร็จ เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าให้เร็วที่สุดในปี 2568 ขณะเดียวกันจะมีการลงพื้นที่เพื่อสอบถามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าสีเขียวด้วย

รวมถึงโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรง (Direct Power Purchase Agreement : Direct PPA) ที่สำนักงาน กกพ. ศึกษามาระดับหนึ่งแล้ว ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) หลังจากนี้ไปทางสำนักงาน กกพ. จะนำข้อมูลมาออกแบบรายละเอียดการทำงานร่วมกับ 3 การไฟฟ้า รวมถึงการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access), อัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เและรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าด้วย คาดว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งทั้งหมดอยู่บนกรอบของความปลอดภัย ความมั่นคง และลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าหลักให้น้อยที่สุด

นอกจากนี้ ในอนาคตพลังงานสะอาดจะเป็นพื้นฐานสำคัญยังมีแบตเตอรี่ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วย

อย่างไรก็ตาม ดร.พูลพัฒน์ กล่าวถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้นว่า สิ่งแรกคือ ความคาดหวังที่เกิดขึ้นในสังคม มองว่าเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะต้องทำให้ต้นทุนพลังงานอยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่ผลกระทบเศรษฐกิจของประชาชนจนเกินไป

ประการต่อมา การเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของภาคพลังงาน ซึ่งทางสำนักงาน กกพ. จะมีการปรับตัวการทำงานในเชิงการกำกับให้เกิดการเท่าทัน พร้อมกับวางแผนในอนาคตการกับดูแลภาคธุรกิจที่จะมีการออกแบบมาใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกัน

วันนี้ในโลกกำลังเดินไปสองเรื่องหลักคือ Go Green และ Go Digital ภาคธุรกิจ รวมถึงภาคพลังงานกำลังเปลี่ยนแปลงสำนักงานกกพ.ต้อง เตรียมความพร้อมในโอกาสสำคัญของจุดเปลี่ยนให้กับประเทศ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้วยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 เมื่อบวกกับกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจะเป็นกระแสหลักจะทำให้ทั้งภาคนโยบายและภาคการกำกับดูแลต้องใส่ใจดูแลเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

ประการสุดท้าย การสร้างองค์ความรู้ทางด้านพลังงานให้ประชาชนในประเทศมีภูมิคุ้มกัน เพื่อหยุดข่าวลือ ข่าวลวง ที่จะนำไปสู่การบิดเบือน จึงจำเป็นจะต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง จากประสบการณ์การเคยทำงานร่วมกับองค์กรในต่างประเทศได้เห็นความเป็นมืออาชีพ ความก้าวหน้าทันสมัยของภาคพลังงาน ซึ่งจะนำมาพัฒนาให้ภาคพลังงานของประเทศไทยได้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที เพราะเชื่อว่าโอกาสจะเกิดขึ้นได้กับประเทศ ย่อมมาจากการเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้