ดันทบทวน ร่าง PDP 2024 ห่วงความมั่นคงไฟฟ้า สัดส่วนการผลิต กฟผ. เหลือแค่ 17 %

05 ก.ค. 2567 | 07:17 น.

ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 ซึ่งจะมากำหนดทิศทางการบริหารจัดการด้านกำลังการผลิตไฟฟ้า เพื่อสร้างคามมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ รวมถึงการปูทางไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net Zero) ภายในปี 2608 ตามที่ประเทศประกาศไว้

ที่ผ่านมาทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านพ้นไปแล้ว กลายมาเป็นประเด็นร้อน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงการลดบทบาทของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักดูแลการผลิตไฟฟ้าของประเทศ จะมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือจากปัจจุบันที่ 29 % จากกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมด 50,801 เมกะวัตต์ จะเหลือเพียง 17 % หรือประมาณ 19,100 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นสุดแผนในปี 2580 จากกำลังติดตั้งทั้งหมดราว 112,391 เมกะวัตต์

ในกำลังผลิตทั้งหมดนี้ จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนถึง 51% หรือจำนวน 34,851 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 36 % และลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลงจาก 51% เหลือ 40% เป็นต้น

ดันทบทวน ร่าง PDP 2024 ห่วงความมั่นคงไฟฟ้า สัดส่วนการผลิต กฟผ. เหลือแค่ 17 %

สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก กฟผ.ที่ลดลงนี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ หรือการรักษาเสถียรภาพความมั่นคงไฟฟ้าได้มากน้อยแค่ไหน จะบริหารจัดการอย่างไรเมื่อโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในมือของเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่มีเข้ามามากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังติดตั้งทั้งหมด จะสร้างความผันผวนต่อระบบในปริมาณที่มากขึ้น หากไม่มีโรงไฟฟ้าหลักของกฟผ.เข้ามาช่วย Backup

ตัวอย่างมีให้เห็นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 เกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา สปป.ลาว ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้า 1,300 เมกะวัตต์ ที่ต้องส่งเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศหายไปทันที ทำให้ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดตํ่าลงจากมาตรฐานปกติที่ 50 เฮิร์ท

ระหว่างที่ระบบตอบสนองความถี่อัตโนมัติกำลังทำงานเพื่อรักษาระบบอยู่นั้น โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 37 ราย ได้ปลดเครื่องผลิตไฟฟ้า ของตัวเองออกจากระบบ เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้าของตัวเองเอาไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่ถึงเกณฑ์ความถี่ของระบบไฟฟ้าขั้นตํ่าที่กำหนดไว้ ส่งผลให้ระบบไฟฟ้าเสียกำลังผลิตไปอีก 2,516 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับวงกว้าง ทั้งในภาคเหนือ กลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกว่า 30 จังหวัด

การแก้ปัญหาขณะนั้น ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ได้สั่งการเพิ่มกำลังผลิตสำรองที่มีอยู่อย่างเร่งด่วน โดยสั่งให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังนํ้า เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนลำตะคอง และเครื่องกังหันก๊าซ เช่น โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายใน 5-30 นาที ส่งผลให้สามารถกลับมาจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 50 นาที นับตั้งแต่เกิดเหตุ

ดังนั้น ด้วยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของกฟผ.ที่เหลืออยู่เพียง 17% หากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ด้วยปริมาณไฟฟ้าและโรงไฟฟ้าที่กฟผ.มีอยู่ จะไม่สามารถเพียงพอที่จะกู้ระบบคืนมาได้ ก็จะสร้างความเสียหายเกิดจากไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง เพราะโรงไฟฟ้าหลักที่จะก่อสร้างใหม่ของกฟผ. เพื่อมารักษาเสถียรภาพหรือความมั่นคงด้านไฟฟ้า ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในร่างแผน PDP2024

ล่าสุดนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม เพื่อทำความเข้าใจและศึกษารูปแบบการพัฒนาโครงสร้างไฟฟ้าตามภาพรวมของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) ใหม่ ซึ่งจะต้องไปทบทวนและดูรูปแบบให้เป็นไปตามแผนอย่างเหมาะสม และต้องดูถึงความสามารถในการลงทุนของ กฟผ. ด้วย โดยมั่นใจว่า กฟผ.จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้กับไฟฟ้าของประเทศได้อยู่ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า แผน PDP2024 ที่ล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้วสุดท้ายจะได้ข้อยุติอย่างไร