"BAFS" กำไรไตรมาส 2 กว่า 43.4 ล้าน รับอนิสงส์ธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยวฟื้น

28 ส.ค. 2567 | 05:51 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 05:51 น.

"BAFS" กำไรไตรมาส 2 กว่า 43.4 ล้าน รับอนิสงส์ธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยวฟื้น เผยวางรากฐานและโครงสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและทันสมัย รวมถึงขยายการเติบโต ต่อยอดธุรกิจด้านธุรกิจบริการพลังงานอย่างยั่งยืน

ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 ว่า มีรายได้รวม 830.6 ล้านบาท กำไรสุทธิ 43.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 295% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 

จากการเติบโตของธุรกิจด้านการบริการการบิน ที่มีปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่ 1,197 ล้านลิตร สอดคล้องกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 17.5 ล้านคน

อย่างไรก็ดี บริษัทยังมุ่งวางรากฐานและโครงสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งและทันสมัย รวมถึงขยายการเติบโต ต่อยอดธุรกิจเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจบริการพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วย 4 จุดแข็ง ประกอบด้วย
 

  • ความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของ BAFS Group ที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 5 ปี (2563-2567) เห็นได้จาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยอดเติมน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้จะสูงถึง 5,100 ล้านลิตร หรือเท่ากับ 84% เทียบกับก่อนโควิด (2562) 

"BAFS" กำไรไตรมาส 2 กว่า 43.4 ล้าน รับอนิสงส์ธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยวฟื้น

  • ความแข็งแกร่งทางโครงสร้างรายได้จากกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง โดยบริษัทในเครือกลุ่มบริษัทบาฟส์ สามารถสร้างรายได้ซึ่งส่งผลต่อกำไรสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้ชัดจากรายได้จากค่าบริการขนส่งน้ำมันของ บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 27% รวมถึงยอดจำหน่ายรถเติมน้ำมันอากาศยาน ของ บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ความพร้อมในการให้บริการและมาตรฐานความปลอดภัย และยังยืนยันที่จะเข้าร่วมกระบวนการคัดเลือกผู้ประกอบการเพื่อให้บริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยานในอนาคตอีกด้วย 
  • ความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต คือการเป็นฟันเฟืองสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมน้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) โดยมีจุดยืนในการส่งเสริมให้ตลาดการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนเป็นไปอย่างเสรี 
     

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในปี 67 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย 37 ล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2568 ที่ระดับ 40 ล้านคน จากโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น 

ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงปลายปี 2567 รวมทั้งโครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2 : SAT-2) และพัฒนาส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 

ขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนา ทดม.เฟส 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี

การเติบโตของธุรกิจสายการบิน เป็นอีกปัจจัยที่เติบโตสอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ด้วยการขยายเครือข่ายเส้นทางบินและการขยายฝูงบินของสายการบินต่างๆ หลังจากที่เคยยกเลิกไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 

และการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ทั้งจากมาตรการฟรีวีซ่า การจัดงานเทศกาลต่างๆ แพลตฟอร์ม Ease of traveling ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว 

รวมถึงนโยบายยกระดับศักยภาพเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Aviation Hub) พัฒนาสนามบินหลัก สนามบินรองให้รองรับการ Transit ของสายการบิน และเตรียมปรับเปลี่ยนเส้นทาง ตารางบินให้เหมาะสม เพื่อเพิ่ม Transit Capacity ให้สูงขึ้น