ผลงาน 1 ปี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงานหน้าเดิม-งานที่ต้องสานต่อ

06 ก.ย. 2567 | 05:22 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2567 | 05:22 น.

ผลงาน 1 ปี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงานหน้าเดิม-งานที่ต้องสานต่อ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้หมดแล้ว เดินหน้าประกาศวางระบบพลังงานของประเทศ สร้างให้เกิดความเป็นธรรม

กระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งกระทรวงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังคงเป็นของ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปดูผลงานของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และงานที่จะต้องสานต่อให้สำเร็จ 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีการประกาศนโยบายพลังงานตามแนวทาง รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง โดยวางเป้าหมายไว้เป็นบันได 5 ขั้น ซึ่งในช่วง 1 ปีแรกสามารถดำเนินการไปถึงบันไดขั้นที่ 3 

สำหรับบันไดขั้นที่ 1 ซึ่งเป็นช่วง 6 เดือนแรกคือ การตรึงราคาพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน และราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมถึงศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งหมด เพื่อเตรียมหาช่องทางแก้ไขปัญหาด้านพลังงานโดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำมัน และหาวิธีการที่จะรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่กระทรวงพลังงานไม่มีข้อมูลที่แท้จริง และกฎหมายหลายฉบับยังไม่เอื้ออำนวยต่อการบริหารจัดการ ทำให้กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจในการดำเนินการ
 

บันไดขั้นที่ 2 คือ การหาช่องทางตามกฎหมายปัจจุบันเพื่อให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมัน และพบว่ามีช่องทางที่แฝงอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง จนสามารถออกเป็นประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน เป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา

ผลงาน 1 ปี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.พลังงานหน้าเดิม-งานที่ต้องสานต่อ

บันไดขั้นที่ 3 คือ การรื้อระบบการค้าน้ำมัน โดยขณะนี้ได้ยกร่างต้นฉบับกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ บันไดขั้นที่ 5 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยร่างกฎหมายมีทั้งหมด 180 มาตรา อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและพลังงาน โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน ซึ่งจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนการอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศและมีอีกหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประชาชน กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้จะดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย

ในกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้เลย จะทำให้ต้นทุนน้ำมันของเกษตรกร ชาวประมง ผู้ประกอบการขนส่งลดลงได้ทันที เมื่อผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันได้ในราคาถูก ต้นทุนก็จะลดลง และเมื่อลดภาระเรื่องราคาน้ำมันแล้ว ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ประชาชนด้วย
 

บันไดขั้นที่ 4 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการคือ การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง อยู่ระหว่างจัดเตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสํารองน้ำมันของประเทศ หลักการคือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะเปลี่ยนกองทุนน้ำมันฯ ที่ใช้เงินและสร้างหนี้สาธารณะ ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินของประเทศต่อไป

บันไดขั้นที่ 5 คือ การออกกฎหมายสร้างระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ และกฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนอย่างยั่งยืน 

ด้านไฟฟ้า เรื่องราคาค่าไฟฟ้า ยังคงรักษานโยบายที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้แก่ประชาชน โดยในช่วงแรกที่ได้ปรับราคาค่าไฟฟ้าให้ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนที่จะขยับขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากราคาก๊าซในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วยต่อเดือน ก็ยังใช้ไฟฟ้าที่ราคา 3.99 บาทต่อหน่วยเหมือนเดิม โดยพยายามตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ให้ถึงที่สุด หากไม่สามารถลดได้ก็ต้องไม่ปรับขึ้น

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงค่าไฟที่ถูกลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) และขจัดปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งและการขออนุญาต กระทรวงพลังงานเตรียมออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อที่จะกํากับดูแลให้การติดตั้งระบบโซลาร์บนหลังคาบ้าน เพื่อติดตั้งได้สะดวกและง่ายขึ้น และมีมาตรการสนับสนุนเงินทุนในการติดตั้ง การหักค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษี  

โดยคาดว่าจะเสร็จพร้อมกับกฎหมายน้ำมันภายในปลายปี 2567 นี้ เพื่อมีส่วนช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากภาระค่าไฟหลักที่ต้องปรับทุก 4 เดือน รวมทั้งเตรียมสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการติดตั้งระบบ Solar Rooftop แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนในราคาถูก ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง เบื้องต้นก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ระบบนี้สามารถใช้กับเครื่องแอร์ได้ 3 เครื่อง ตู้เย็น 1 เครื่อง ประกอบด้วยแผงโซลาร์ เครื่องอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ทั้งหมดจะอยู่ในวงเงินประมาณ 30,000 บาท ชึ่งจะเป็นราคาต้นทุนการผลิตไม่รวมค่าบริหารจัดการ สามารถใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน 

ล่าสุดนายพีระพันธุ์ ระบุว่า นโยบายทางด้านพลังงานของพรรคชัดเจนอยู่แล้ว ที่จะหาทางในการวางระบบพลังงานของประเทศ และเพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรม ด้วยราคาที่เหมาะสมกับประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาโดยตลอด

ดังนั้น ในรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็จะนำนโยบายดังกล่าวมาสานต่อ จากสิ่งที่ทำอยู่ 

ปัจจุบันกฎหมายที่ทำอยู่เสร็จแล้ว โดยจะเป็นการวางระบบใหม่ทั้งหมด แต่ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองพอดี แต่พรรคก็จะทำต่อ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายต้นฉบับร่างเสร็จแล้ว กำลังอยู่ระหว่างให้คณะทำงานด้านกฎหมายและพลังงานตรวจสอบอยู่ 

อย่างไรก็ดี เชื่อว่ากฏหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาด้ภายในปีนี้  เพราะกฎหมายที่ทำดังกล่าวนี้เป็นกฎหมายรูปแบบใหม่ จึงต้องอาศัยคนที่มีความเชี่ยวชาญช่วยตรวจดู เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด