"พลังงาน" จ่อคลอดกฎหมาย 3 ฉบับ คุมราคาน้ำมัน-ปลดล็อกติดโซลาร์รูฟท็อป

11 ก.ย. 2567 | 11:06 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2567 | 11:06 น.

"พลังงาน" จ่อคลอดกฎหมาย 3 ฉบับ คุมราคาน้ำมัน-ปลดล็อกติดโซลาร์รูฟท็อป และเดินหน้าจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ ด้านราคาดีเซลเพดานไม่เกิน 33 บาท รอ ครม. ตัดสิน

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ รื้อ ลด ปลด สร้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่ความยั่งยืน ในงานสัมมนา พลังงานสะอาด ความยั่งยืน และทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ว่า นโยบายพลังงานหลังจากนี้จะเดินหน้าออกกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายกำกับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์(โซลาร์)

การออกกฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) คาดว่า 2 ฉบับแรกจะเข้าสภาฯได้ภายในปีนี้ 

ส่วนฉบับที่ 3 จะเข้าสภาฯปี 2568 เมื่อกฎหมายทั้งหมดบังคับใช้จะสร้างความเป็นธรรมด้านพลังงานให้ประชาชน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแล ปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันกำหนดราคาเอง
 

"เมื่อกฎหมายกำกับกิจการการค้าน้ำมันบังคับใช้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่มีความจำเป็น ส่วนหนี้กองทุนฯปัจจุบันกว่า 1 แสนล้านบาท ด้วยเครื่องมือใหม่จะหักลบหนี้ได้เองในอนาคต"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า นโยบายเร่งด่วนในการดูแลค่าครองชีพประชาชน ในส่วนของราคาแอลพีจี มาตรการตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม(กก.) 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2567 เบื้องต้นจะเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ตรึงราคาดังกล่าวต่อไปอีก 3 เดือน คือ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2567 

ด้านราคาดีเซลเพดานไม่เกิน 33 บาท ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติตรึงราคา 1 สิงหาคม - 31 ตุลาคม 2567 นั้น จะต้องรอครม.ชุดใหม่ พิจารณาต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) 2024 ล่าสุดอยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน อาทิ ข้อเสนอของส.ส. เพื่อให้การจัดทำแผนครบถ้วนมากที่สุด โดยได้เน้นย้ำหน่วยงานรับผิดชอบให้ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อประกาศใช้ทางการต่อไป 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันของไทยกับกัมพูชา (OCA) ไม่อยากให้เรียกพื้นที่ทับซ้อน เพราะเป็นการอ้างสิทธิพื้นที่ประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอยู่เดิม ต้องอยู่ที่รัฐบาลว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างไร