ลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย วลีเด็ดจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยระหว่างลงพื้นที่หาเสียงให้ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พรรคเพื่อไทย โดยระบุว่า กำลังให้เขาช่วยทุบอยู่ ปีนี้ค่าไฟลงแน่เห็นตัวเลขแล้วทุบได้
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบไปยังหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยมีผลทำให้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ทั้ง 8 หลักทรัพย์ เวลา 12.07 น. วันที่ 5 ม.ค. 68 มีการปรับตัวลดลงยกแผง ประกอบด้วย
อย่างไรก็ดี ล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสพุดคุยกับศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญทางด้านพลังงาน เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยคำตอบที่ได้คือ คงเป็นไปได้ยาก หากต้องการทำจริงก็คงจะต้องมีการนำเงินเข้ามาช่วยอุดหนุน ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในรูปของหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่แบกรับภาระอยู่แสนกว่า 1 แสนล้านบาท
หากจะให้ลดค่าไฟให้มากกว่าที่เป็นอยู่ก็ต้องมีการอุดหนุนเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะเป็นภาระของภาครัฐ ทั้ง กฟผ. ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือหากรัฐบาลต้องการช่วยโดยตรงก็ต้องใช้งบประมาณเข้ามาช่วย โดยที่ปัจจุบันก็ถือว่าภาครัฐช่วยแบกรับภาระมากอยู่แล้ว
ปัจจุบันทุกฝ่ายก็ช่วยกันอุดหนุนอยู่ เพื่อทำให้ค่าไฟอยู่ที่ระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย หากจะให้ลดลงมากกว่านี้ก็ต้องอุดหนุนมาก แม้ว่าค่าเชื้อเพลิงจะลดลงมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากมายเท่าใดนักจากสถานการณ์โลก ซึ่งยังไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าใดนัก โดยมีผลต่อราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติ และ LNG ซึ่งเท่าที่ติดตามก็ไม่ได้ลดลงมาก ดังนั้น จึงนึกหนทางไม่ออกเลยว่าจะลดลงได้อย่างไรโดยที่ไม่ได้นำเงินเข้าไปช่วยอุดหนุนเพิ่ม
ศ.ดร.พรายพล ย้ำว่า เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะการจะให้ค่าไฟลดลงแต่ละสตางค์จะต้องใช้เงินเข้าไปช่วยอุดหนุนหลายพันล้านบาท หรือหากจะมีอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟลดลงได้ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากนั่นก็คือการปรับเปลี่ยนสัญญาซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่มีกำลังผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ขึ้นไป (Independent Power Producer : IPP) เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยหากภาครัฐไม่จ่ายก็จะผิดสัญญา
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับว่าภาคเอกชนจะยอมหรือไม่ หรือหากเป็นกรณีที่ภาคเอกชนยอมก็ไม่ได้ช่วยลดค่าไฟลงมามากมายเท่าใดนัก น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น
บริษัทเอกชนส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการเจรจาปรับเปลี่ยนสัญญา โดยจะทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เพราะบริษัทเหล่านี้มีผู้ถือหุ้นอยู่มาก
ศ.ดร.พรายพล กล่าวต่อไปว่า เท่าที่มอง และพิจารณาแล้วยังไม่เห็นช่องทางเลยว่าจะสามารถลดต้นทุนส่วนไหนได้ เว้นเสียแต่ว่าเกิดเหตุการณ์ที่ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงอย่างฮวบฮาบ หรือราคาถ่านหินลดลง 30-40% ก็จะทำให้ค่าไฟในประเทศไทยลดลงได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้หรือไม่
สำหรับค่าไฟงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 68) อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ลดลง 0.03 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่อยู่ที่ 2.18 บาทต่อหน่วย ตามมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของกระทรวงพลังงาน
ขณะที่ภาระของ กฟผ. ในการแบกรับค่า FT อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท
ส่วนค่าก๊าซที่ ปตท. และ กฟผ. รับภาระอยู่ที่ 15,000 ล้านบาท