จีนยกระดับเข้มอาหารทะเลนำเข้าญี่ปุ่น หลังยังปล่อยน้ำเสียจาก"ฟุกุชิมะ"

09 ก.ค. 2566 | 06:01 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 06:02 น.

จีนยกระดับเข้มอาหารทะเลนำเข้าญี่ปุ่น หลังยังปล่อยน้ำเสียจาก"ฟุกุชิมะ" ลงมหาสมุทร พร้อมคงมาตรการแบนสินค้านำเข้าบางชนิดต่อไป อ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เผยคัดค้านไม่ให้ปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัด

แผนการของญี่ปุ่นซึ่งได้รับไฟเขียวจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) ยังคงเผชิญกระแสต่อต้านทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าการปล่อยน้ำเสียในครั้งนี้ ปลอดภัย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลทุกประการ

กรมศุลกากรจีน เปิดเผยว่า จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าจำพวกอาหารทะเลจากญี่ปุ่น และยังคงจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจังหวัดต่างๆ ของญี่ปุ่นประมาณ 1 ใน 5 เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ จีนได้สั่งห้ามนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรจาก 5 จังหวัดในญี่ปุ่นทันที หลังเกิดวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2011 ก่อนจะขยายคำสั่งแบนเพิ่มเป็น 12 จังหวัด และได้ปลดล็อกสินค้าจาก 2 จังหวัดในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ดี กรมศุลกากรจีนระบุอีกว่า หลังจากนี้ทางหน่วยงานจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าอาหารจากจังหวัดอื่นๆ ของญี่ปุ่นที่ไม่อยู่ในบัญชีแบนด้วย โดยเฉพาะสินค้าจำพวกอาหารทะเล ส่วนคำสั่งแบนผลิตภัณฑ์อาหารจาก 10 จังหวัดของญี่ปุ่นก็จะยังคงมีผลบังคับต่อไป

สำหรับจีนนั้น ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และแผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะในช่วงฤดูร้อนปีนี้ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นบางคนอดกังวลไม่ได้ว่าปักกิ่งอาจสั่งแบนอาหารทะเลจากแดนอาทิตย์อุทัย

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จีนได้ออกมาแถลงคัดค้านไม่ให้ญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทร ด้วยเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่าได้บำบัดและกรองรังสีอันตรายออกจากน้ำซึ่งใช้หล่อเย็นแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปของไฮโดรเจนที่ยากจะแยกออกจากน้ำได้ จากนั้นจะนำน้ำที่บำบัดแล้วไปเจือจางเพิ่มเติม จนกระทั่งเหลือทริเทียมในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ก่อนจะปล่อยออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการปล่อยน้ำ ความน่าเชื่อถือของระบบบำบัดน้ำ รวมถึงประสิทธิภาพของกระบวนการติดตามเฝ้าระวังต่างๆ

จีนยังระบุอีกว่า รายงานของ IAEA ไม่ได้สะท้อนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทุกคนที่ร่วมตรวจประเมิน และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ด้วย