net-zero

ไฟฟ้าสีเขียวบูมรับลงทุน FDI บีโอไออนุมัติส่งเสริมปีเดียว กว่า 1.2 แสนล้าน

    บีโอไอ ชี้กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมาแรง ปี 2567 อนุมัติส่งเสริมแล้ว 520 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตรวม 4,974 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 1.2 แสนล้านบาท ปี 2568 พร้อมดันส่งเสริมสุดลิ่ม รับนักลงทุต่างชาติต้องการไฟฟ้าสีเขียว

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากที่ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เป็นหนึ่งในมาตรการดึงดูนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนตามนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการพลังงานหมุนเวียนเข้ามาเป็นอย่างมากถึง 515 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 114,484 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใช้เองและขายไฟฟ้าให้แก่ภาครัฐ

เมื่อเทียบกับการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2566 มีกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอนํ้าจากขยะ หรือเชื้อเพลิงจากขยะ (Refuse Derived Fuel) มี 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 26,051.1 ล้านบาท และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือ พลังงานไฟฟ้าและไอนํ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น จำนวน 431 โครงการ เงินลงทุนรวม 44,836 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนจากนี้ไป มองว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ได้หันมาให้ความสนใจกับการใช้พลังงานสะอาด ที่มีส่วนสำคัญสนับสนุนให้องค์กรก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero

ประกอบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือพีดีพีฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำ มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดกว่า 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะมีส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของอุตสาหกรรมดิจิทัลจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่าง Data Center และ Cloud Service ที่ปี 2567 ที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 16 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท ล้วนแต่มีต้องการไฟฟ้าสีเขียว ที่ผลิตมาจากพลังงานหมุนเวียน

ไฟฟ้าสีเขียวบูมรับลงทุน FDI  บีโอไออนุมัติส่งเสริมปีเดียว กว่า 1.2 แสนล้าน

ทั้งนี้ ในปี 2567 มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว จำนวน 520 โครงการ กำลังผลิตรวม 4,974 เมกะวัตต์ มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 462 โครงการ กำลังผลิต 4,342 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน 15 โครงการ กำลังผลิต 273 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิงจากขยะ จำนวน 28 โครงการ กำลังผลิต 315 เมกะวัตต์ และก๊าซชีวภาพ จำนวน 15 โครงการ กำลังผลิต 44 เมกะวัตต์ เป็นต้น

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของโลก จากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยในการช่วงชิงฐานการลงทุน ในปี 2568 บีโอไอได้มีแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก และพร้อมรับกระแสการโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มสูงขึ้น

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและอุตสาหกรรมยั่งยืน ด้วยการเดินหน้าสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน การรีไซเคิล และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อการลดการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อีกทั้ง การทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในการออกแบบกลไกการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งกลไกไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff : UGT) และการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าสีเขียวได้โดยตรง หรือ Direct PPA

รวมถึงการเปิดส่งเสริม “กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel หรือ SAF)” ซึ่งใช้ผลผลิตทางการเกษตร เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 80% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และ “กิจการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนแบบผสม” ที่นำ SAF มาผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (JET Fuel) เพื่อให้สามารถนำมาใช้กับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทันที โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี

ทั้งนี้ การส่งเสริมดังกล่าว เพื่อรองรับนโยบายแผนพลังงานชาติ ที่จะประกาศออกมา ที่จะให้นํ้ามันอากาศยานหรือ เจ็ท A1 จะต้องมี SAF ผสมอยู่ในสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป