จากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการขึ้นภาษี 25% สำหรับยานพาหนะโดยสารที่นำเข้า (รถเก๋ง, รถเอสยูวี, รถครอสโอเวอร์, รถมินิแวน, รถตู้บรรทุก) และรถบรรทุกขนาดเบา รวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์สำคัญ (เครื่องยนต์, เกียร์, ชิ้นส่วนระบบส่งกำลัง และชิ้นส่วนไฟฟ้า) พร้อมจะขยายมาตรการภาษีเพิ่มเติมไปยังชิ้นส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมหากจำเป็น
โดยการขึ้นภาษีครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 เมษายน 2568 ซึ่งคาดจะสร้างรายได้มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และช่วยลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ คาดจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยแน่นอน จะมากน้อยคงต้องติดตาม เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้ารถยนต์จากไทยในอัตรา 2.5% การปรับขึ้นภาษี 25% จะส่งผลทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น และส่งออกได้ลดลง
ทั้งนี้ในปี 2567 ไทยส่งออกรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง หรือรถเก๋งขนาดเล็กไปสหรัฐ มูลค่า 320.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (11,194 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 98% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกรถยนต์อันดับ 10 ของไทยในปีที่ผ่านมา
ขณะช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 ไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐมูลค่า 37.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,293.52 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 407% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 11 ของไทยในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้
“รถยนต์ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐส่วนใหญ่เป็นรถเก๋งขนาดเล็ก ส่วนรถปิกอัพไทยส่งออกไปน้อยเพราะส่วนใหญ่เขาใช้รถปิกอัพขนาดมากกว่า 1 ตัน (รถปิกอัพไทยมีขนาด 1 ตัน) ขณะที่รถยนต์ที่สหภาพยุโรป หรืออียูส่งไปสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่จะเป็นรถใหญ่ราคาแพง เพราะฉะนั้นเราอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐเขาไม่ดี ราคารถยนต์หรือราคาสินค้าแพงขึ้น รถเก๋งเราอาจจะขายดีขึ้นก็ได้ ต้องจับตาดูต่อไป”
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นไทยคงได้รับผลกระทบ เนื่องจากการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐจะทำให้การค้าโลกชะลอตัวหรือทรุดลง โดยเปรียบเทียบสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยแรก (ทรัมป์ 1.0) และมีการทำสงครามการค้ากับจีนเพียงประเทศเดียว ส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยไปทั่วโลกลดลงมากกว่า 83,000 คันในปี 2562 เมื่อเทียบกับปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว
แต่ในครั้งนี้สหรัฐประกาศจะปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากทุกประเทศที่ไม่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐในอัตรา 25% อาทิ รถยนต์จากญี่ปุ่น เม็กซิโก แคนาดา จีน เยอรมนี รวมถึงประเทศอื่น ๆ ซึ่งประเทศเหล่านี้ไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนให้เขาด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้ไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ได้ลดลง หากประเทศคู่ค้าของไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐได้ลดลง จากมาตรการภาษีของสหรัฐ
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร ของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ไปทั่วโลก มูลค่า 10,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในรูปเงินบาท 359,396 ล้านบาท โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น มาเลเซีย แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการส่งออกรถยนต์ของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐในครั้งนี้แล้ว จะส่งผลกับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปสหรัฐด้วย เพราะสหรัฐประกาศเก็บภาษี และเตรียมขึ้นภาษีชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มเติมอีกในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยไปสหรัฐด้วย (ปี 2567 ไทยส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ไปสหรัฐ 1,566 ล้านดอลลาร์)
ขณะที่ในภาพรวมการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยไปสหรัฐในปี 2567 มีมูลค่ารวม 1,893 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (66,526 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสหรัฐเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อันดับ 4 ของไทยในปี 2567 (รองจาก ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น)
ส่วนช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 2568) ไทยส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบไปสหรัฐ มูลค่า 311 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,573 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“เพื่อลดผลกระทบ เราหวังรัฐบาลจะเจรจากับทางสหรัฐเพื่อลดผลกระทบ โดยไทยอาจเสนอให้มีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐที่เรามีความจำเป็นต้องใช้เพิ่มขึ้น เพราะจุดประสงค์ของสหรัฐที่ขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศคู่ค้าในครั้งนี้เพื่อต้องการลดการขาดดุลการค้า และต้องการให้บริษัทของอเมริกาที่อยู่ในต่างประเทศและส่งสินค้ากลับไปขายในสหรัฐ ให้ย้ายโรงงานกลับไปตั้งฐานในสหรัฐ” นายสุรพงษ์ กล่าว