thansettakij
บุคลากรปิโตรเลียมไทยขาดแคลน โจทย์ใหญ่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน
net-zero

บุคลากรปิโตรเลียมไทยขาดแคลน โจทย์ใหญ่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน

    ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แต่ทว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไทยกลับกำลังเผชิญกับคำถามใหญ่ว่า...จะไปต่ออย่างไร เพราะบทบาทของก๊าซธรรมชาติจะยังสำคัญในช่วงรอยต่อนี้ และกำลังเผชิญอุปสรรคที่รุมเร้าไม่ว่าจะเป็น ปริมาณสำรองที่ลดลง และการผลิตจากแหล่งเดิมที่เสื่อมสภาพ นักศึกษาที่หันหลังให้กับสายวิชานี้ ไปจนถึงพื้นที่สำรวจใหม่อย่างพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ที่ยังรอการเจรจา ต่างชี้ให้เห็นภาพเดียวกันว่า ธุรกิจปิโตรเลียมไทยกำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงขาลงอย่างแท้จริง

การผลิตก๊าซฯยังพึ่งแหล่งเดิม

รองศาสตราจารย์ ดร. จิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ หัวหน้าภาควิชาเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิชาการ สะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางแรงกดดันเรื่องสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนเครดิต พลังงานฟอสซิลหลายประเภทเริ่มถูกลดบทบาทลงอย่างชัดเจน ทั้งน้ำมันเตาและถ่านหิน แต่ก๊าซธรรมชาติยังมีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพราะมีคุณสมบัติสะอาดกว่าฟอสซิลประเภทอื่นและยังสามารถใช้ได้กับระบบพลังงานปัจจุบัน

ทั้งนี้ ไทยจะยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติต่อไปอีกอย่างน้อย 10-20 ปี โดยเฉพาะในภาคการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ยังต้องใช้วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีแหล่งผลิตใหม่เข้ามาเติมเต็ม ก็อาจเกิดภาวะวิกฤตด้านพลังงานภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า

บุคลากรปิโตรเลียมไทยขาดแคลน โจทย์ใหญ่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังงาน

อย่างไรก็ตาม มองว่าไทยยังมีศักยภาพในพื้นที่อ่าวไทยที่ยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างเต็มที่ หากมีการใช้เทคโนโลยีสำรวจยุคใหม่ ร่วมกับแนวคิดการตีความข้อมูลที่เปลี่ยนไป อาจช่วยให้มีการค้นพบแหล่งใหม่ในพื้นที่ที่เคยมองข้ามไป รวมถึงพื้นที่ฝั่งอันดามัน ที่มีโครงสร้างธรณีวิทยาคล้ายคลึงกับพื้นที่ที่พบปิโตรเลียมในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมา ที่มีโอกาสค้นพบแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น แต่มีปัญหาว่า โครงสร้างพื้นฐานยังไม่พร้อม ทั้งในแง่ท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซ หรือสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนเนื้อก๊าซฯ มีราคาสูงขึ้น เมื่อเทียบกับทางด้านอ่าวไทยที่มีความพร้อมมากกว่า

ดังนั้น ความท้าทายใหญ่ของภาคพลังงานไทยคือ การพึ่งพาแหล่งพลังงานเดิม โดยที่ยังไม่มีการพัฒนาแหล่งใหม่อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีการเปิดให้สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบ 24 แต่ศักยภาพของแหล่งใหม่ก็ยังไม่สามารถทดแทนปริมาณที่ลดลงจากแหล่งเดิมได้ในระยะยาว หรือแม้แต่การเปลี่ยนระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบ เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่าน จะเกิดช่วง “สุญญากาศ” ที่ทำให้การลงทุนและการผลิตสะดุดลง สุดท้ายก็ย้อนกลับมาเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในภายหลัง

บุคลากรปิโตรเลียมเริ่มขาดแคลน

จากความไม่ชัดเจนของการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม หรือมองว่าเป็นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของไทย สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนและคุณภาพของนักศึกษาวิศวกรรมปิโตรเลียมที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่เคยมีนักศึกษาเข้าเรียนกว่า 20 คนต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 10 คน และยังต้องเผชิญปัญหาด้านคุณภาพ เพราะคะแนนเฉลี่ยโดยรวมเริ่มไม่ผ่านเกณฑ์การรับสมัครของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่

“เมื่ออุตสาหกรรมถดถอย ความสนใจของนักศึกษาก็ลดลงตาม” นี่คือวงจรที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้ โดยเฉพาะเมื่อเทรนด์อุตสาหกรรมโลกกำลังมุ่งหน้าไปยัง AI, พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีแห่งอนาคต สาขาปิโตรเลียมจึงดูไม่ “ทันสมัย” และไม่ “มั่นคง” สำหรับเด็กรุ่นใหม่อีกต่อไป หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อ อนาคตของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไทยอาจถึงจุดที่ไม่สามารถผลิตบุคลากรรองรับได้ทัน ทั้งภาครัฐและเอกชนอาจต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ จากการส่งทุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ และเผชิญกับปัญหา “สมองไหล” ซ้ำอีกครั้ง

ปัจจุบัน มีการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยการออกแบบหลักสูตรใหม่ เช่น การเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากสาขาใกล้เคียงโอนเข้ามาเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่สำคัญรัฐควรแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมนี้ยังมีอนาคต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับมาสนใจ

OCA ความหวังใหม่ที่รอการตัดสินใจ

โดยเฉพาะพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ซึ่งมีศักยภาพที่จะสำรวจค้นพบปิโตรเลียมสูง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งปิโตรเลียมเดิมในอ่าวไทย หากสามารถเจรจาให้ได้ข้อยุติ จะช่วยให้ไทยสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมในการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ได้ทันที ลดต้นทุน และเพิ่มความคุ้มค่าอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเจรจาในระดับนโยบายอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่รีบนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ หรือเก็บทรัพยากรไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่ใช้ตอนนี้ อาจไม่มีโอกาสใช้ในอนาคต เพราะโลกกำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด หากถึงจุดที่ไม่มีใครซื้อพลังงานฟอสซิลอีกต่อไป แหล่งที่มีอยู่ก็จะหมดมูลค่า และโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิต หากไม่ได้ใช้งานก็จะเสื่อมสภาพและกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจต่อไป