ล่าสุดมีกระแสว่า คณะรัฐมนตรีจะมีการเห็นชอบตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee -JTC) ไทย-กัมพูชา เพื่อเดินหน้าเจรจาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยในเร็ว ๆ นี้
ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นว่าการเจรจาพื้นที่ทับซ้อน เป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่รัฐบาลควรดำเนินการให้เกิดความสำเร็จ โดยมี 4 ข้อเสนอ ที่รัฐบาลควรจะนำไปดำเนินงาน ได้แก่
1.การตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยจะต้องเลือกบุคคลที่สาธารณะให้การยอมรับ และไว้วางใจ มาเป็นประธาน ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง 2.คณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวกับการเจรจาจะต้องมีความต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เนื่องจากในขั้นตอนการเจรจา เป็นเรื่องของการต่อรอง เรื่องเทคนิคต่าง ๆ และให้คำนึงถึงว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่ได้ตามความต้องการทั้ง 100%
3.รัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญ ที่จะทำให้เรื่องของการเจรจาไม่โยงกับการเมือง และ 4.ทุกฝ่ายต้องมีความสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว คำนึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ของพรรคการเมือง พรรคใดพรรคหนึ่ง
นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส.อ.ท. ชี้ให้เห็นว่า ข้อเสนอทั้ง 4 ข้อ อาจมองว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นอุดมคติ นำไปปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก แต่หากทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งแล้ว เชื่อว่าจะนำไปปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ที่ทั้งสองประเทศ ต่างได้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ขณะที่พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ในบทบาทของกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม อยากจะเห็นนโยบายจากภาครัฐที่ให้การส่งเสริมบริษัทของคนไทย ให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เช่นเดียวกับที่บริษัทของมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
อีกทั้ง ไม่ต้องการให้เรื่อง OCA ถูกโยงเข้าไปเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อประเทศ เพราะการเจรจายิ่งล่าช้า ประเทศจะยิ่งเสียโอกาสที่จะได้นำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ในจังหวะที่ยังมีมูลค่าสูงและยังมีความต้องการใช้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานโดยเรื่อง OCA ไม่ควรจะแปลว่า Overlapping Claims Area แต่ควรจะแปลว่า เป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ไทยและกัมพูชา จะได้พัฒนาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่ไทยและกัมพูชาจะได้รับ หากการเจรจา OCA ได้ข้อยุติ ทั้ง 2 ประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาษีปิโตรเลียมและค่าภาคหลวง รวมถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งแตกต่างจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ภาครัฐจะไม่ได้ประโยชน์ภาษีและจากค่าภาคหลวง โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยโครงสร้างทางธรณีของพื้นที่ OCA ที่อยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของฝั่งไทยทำให้มั่นใจว่า จะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติอยู่มากพอสมควร ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้มหาศาล
นอกจากนี้ การที่ฝั่งไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แท่นผลิตและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลงต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณก๊าซที่ส่งเข้าท่อไม่เต็มตามศักยภาพท่อที่ออกแบบไว้ หากมีก๊าซธรรมชาติจาก พื้นที่ OCA ส่งเข้าระบบท่อมากขึ้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยตํ่าลง หรือค่าบริการผ่านท่อตํ่าลง ผู้บริโภคจะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกลง ค่าไฟฟ้าก็จะถูกลงตามด้วย เมื่อเทียบกับต้นทุนการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาผันผวนและเป็นต้นเหตุของค่าไฟฟ้าแพง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง