CEO ปตท. ชี้ปี 66 พลังงานขาลง เดินเต็มสูบสู่ Net Zero ปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่

08 ต.ค. 2565 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2565 | 09:44 น.

ซีอีโอ ปตท. มองราคาน้ำมันปี 2566 มีแนวโน้มลดลง เชื่อช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ชี้ก๊าซธรรมชาติยังมีอนาคต พร้อมเดินหน้าวิสัยทัศน์ใหม่ “Powering Life with Future Energy and Beyond” การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต มุ่งสู่ Net Zero

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการกล่าวหัวข้อ “ซีอีโอ Big Corp สู่ธุรกิจแห่งอนาคต” งานสัมมนา Thailand Econo-mic Outlook 2023 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า แนวโน้มราคาพลังงานในปี 2566 น่าจะดีขึ้นกว่าปี 2565 หรือราคาปรับตัวลดลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 85 - 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงน้อยกว่าปีนี้

 

เช่นเดียวกับทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งฤดูหนาวการใช้งานของประเทศฝั่งยุโรปจะสูงขึ้น ดังนั้น ช่วงปีหน้าราคาก็น่าจะถูกลงกว่าปีนี้ ส่วนราคาน้ำมันปีนี้มองว่าค่าเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่บวกลบ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดังนั้น ภาคพลังงานมีความท้าทายมาก โดยสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงประกอบด้วย การบริหารงานจะต้องสมดุลให้ดีระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน และการบริหารการจัดหาพลังงานให้เพียงพอพร้อมใช้งาน และต้องทำอย่างไรให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการกระทบด้านราคา เพราะเมื่อต้องการพลังงานที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยจะต้องเลือกใช้พลังงานสะอาดแต่ราคาแพง ส่วนราคาน้ำมันเมื่อยิ่งมีราคาสูงก็จะยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานของ ปตท. จะมุ่งเน้นไปใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การบริหารการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพต่อหน่วยให้มากที่สุด พัฒนาพลังงานให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ใช้เทคโนโลยีดักจับและจัดเก็บคาร์บอน เข้ามาช่วย เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนออกสู่สิ่งแวดล้อม

อรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมของพลังงานในระยะยาวจะยังไม่เปลี่ยนทันทีแม้จะมีราคาสูง แต่จะมุ่งไปในทิศทางการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพราะฉะนั้น การบริหารงานตามความท้าทายเดิม เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จะต้องบริหารอย่างไรให้ก้าวสู่พลังงานสะอาด โดยถ่านหินถือว่าผ่านจุดที่เคยใช้ในปริมาณสูงสุดไปแล้ว และในระยะยาวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงเติบโตไปได้อีก คาดว่าจะถึงจุดสูงสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 หลังจากนั้นจะทยอยปรับตัวลดลง ขณะที่ ก๊าซธรรมชาติถือว่ายังมีอนาคต เพราะถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุดใน 3 เชื้อเพลิงดังกล่าว

 

 อย่างไรก็ดี ปตท. จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ รวมถึงจะต้องใช้เงินลงทุน เพราะโลกกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งในอนาคตต้นทุนก็จะลดลงด้วย ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอรี่ มีราคาลดลงมาแล้ว 10 เท่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

 

จากข้อมูลพบว่า การลงทุนในการเปลี่ยนแปลงพลังงานในอนาคตทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งดีมานด์ และซัพพลายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาได้มีการคาดการณ์เงินลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ รวมทั้งไฮโดรเจน และเทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) รวมกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่ Go Green และ Go Electric

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า ดังนั้นแนวโน้มการทำธุรกิจของ ปตท. จะมุ่งสู่วิสัยทัศน์ใหม่มากขึ้น “Powering Life with Future Energy and Beyond” หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต เนื่องจากองค์กรต้องขยับตัวตามเทรนด์ของพลังงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ทั้งนี้ องค์กรต้องปรับตัวเองให้เป็นทั้งลูกค้าและคู่ค้า เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ซึ่งจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาพลังงาน รวมถึงระบบไฮโดรเจนที่ตั้งเป้าหมายศึกษาอย่างจริงจัง พร้อมมองหาโอกาสต่อยอดสู่ธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากพลังงาน โดยจะตอบโจทย์ New S-curve ของประเทศเป็นสำคัญ

 

ดังนั้น ปตท. จึงได้จัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจใหม่ 6 ด้านผ่านบริษัทในเครือ ปตท. และการตั้งบริษัทใหม่ ได้แก่ Future Energy การมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต Life Science ธุรกิจด้านสุขภาพและการแพทย์ โดยมุ่งเน้นธุรกิจ Pharmaceutical, Nutrition และ Medical Devices, Mobility & Lifestyle การบริหารข้อมูลลูกค้าเพื่อออกแบบการให้บริการให้ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ทั้งบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์และบริการอื่น ๆ ทั้งในและนอกสถานีบริการ

 

High Value Business ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหรือสารเคมีมูลค่าสูง Infrastructure &Logistics การร่วมลงทุนพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การพัฒนาท่าเรือ ระบบรางรถไฟ เป็นต้น และ AI, Robotics & Digitalization การทำธุรกิจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ มีการผลิต มีกำไรผลิตหุ่นยนต์และโดรน รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตของโรงงาน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวจะมุ่งสนับสนุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำองค์กรสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้รวมตัวทุกบริษัทตั้งมั่นทำให้สำเร็จก่อนเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้ในปี 2065 จึงได้เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดเป็น 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ ปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ และแนวทางการดำเนินงานอื่นๆ อีกมากมายที่พร้อมจะนำทางประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืน