กลุ่มปตท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มได้กำหนดเป้าหมายของบริษัทตามทิศทางการดำเนินงานของแต่ละบริษัทครบทั้ง 6 บริษัทเช่นเดียวกัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ที่ได้กำหนดที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065
การดำเนินงานที่จะให้บรรลุเป้าหมายได้นั้น กลุ่มปตท.จะดำเนินงาน 3 ด้านหลัก หรือ 3P ประกอบด้วย 1. Pursuit of Lower Emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด 2.Portfolio Transformation : การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ ตามที่ ปตท. ปรับวิสัยทัศน์ใหม่มุ่งไปสู่พลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจที่นอกเหนือจากพลังงาน และ 3.Partnership with Nature and Society : การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่างๆ ทั่วประเทศร่วมกับภาครัฐและชุมชนในพื้นที่
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานสำคัญที่จะให้ปตท.บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ถึง 15 ปี (2065) การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า จึงถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะช่วยดูดซับหรือกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยวิถีทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็น 1 เสาหลักที่จะทำให้กลุ่มปตท.บรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ได้
ทั้งนี้ ปตท.มีแผนที่จะดำเนินการปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 พร้อมวางแผนดูแลบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เริ่มสำรวจพื้นที่ปลูกป่าร่วมกับภาครัฐ (กรมป่าไม้) ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยได้แล้วกว่า 70,000 ไร่ และได้ร่วมกับบริษัทในเครือ ARV ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เข้ามาช่วยสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกและบำรุงรักษาป่าใหม่ นอกเหนือจากที่ปตท. ได้ปลูกและดูแลรักษาป่าจำนวน 1.1 ล้านไร่ใน 54 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการดำเนินงานระหว่างปี 2023-2030 มีแผนที่จะเริ่มปลูกป่ากว่า 10 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ในพื้นที่ 7.5 หมื่นไร่ และระหว่างปี 2024-2026 จะปลูกป่าปีละ 1.35 แสนไร่ และระหว่างปี 2027-2030 จะปลูกป่าปีละ 1.3 หมื่นไร่ จนครบ 1 ล้านไร่ เมื่อถึงปี 2030 จะช่วยให้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ ปตท. จะร่วมดำเนินงานกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่จะปลูกป่าเพิ่มเติมอีก 1 ล้านไร่ เช่น ร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่ปลูกป่าชายเลนของปี 2565 จำนวน 10,233 ไร่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จำนวน 4,007 ไร่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 56.22 ไร่ เป็นต้น
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า หากรวมพื้นที่ป่าที่ปตท.ปลูกใหม่ 1 ล้านไร่ และร่วมกับกลุ่มปตท. ปลูกเพิ่มใหม่อีก 1 ล้านไร่ บวกกับพื้นที่ป่าที่บำรุงรักษาจากการปลูกมาตั้งแต่ปี 2537-2559 จำนวน 1.1 ล้านไร่ จะทำให้มีกลุ่มปตท.มีพื้นที่ป่ารวม 3.1 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ได้อย่างน้อย 20 % ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. และพื้นที่ป่าที่เพิ่มขึ้นยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่ช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และยังเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนรอบพื้นที่ได้พึ่งพาอาศัยอีกด้วย
“จากการวิจัยของศูนย์วิจัยป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าป่าที่ ปตท. ได้ดำเนินการปลูกและดูแลรักษาตั้งแต่ ปี 2537-2559 สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน ปล่อยออกซิเจนสู่บรรยากาศ 1.55 ล้านตันต่อปี และสามารถคิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์จากป่ากว่า 280 ล้านบาทต่อปี (จากการเก็บของป่า การเป็นระบบนิเวศ ฯลฯ)”
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ ปตท. ร่วมมือกรุงเทพมหานคร เดินหน้าโครงการ “ลมหายใจเพื่อเมือง” ปลูกต้นไม้ 1 แสนต้น สร้างพื้นที่สีเขียวให้คนกรุง นำร่องพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งเป็นพื้นที่ของ ปตท. ที่จะพัฒนาใช้ประโยชน์และมุ่งให้เกิดพื้นที่สีเขียวควบคู่กันต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายการเชื่อมโยงกับพื้นที่สีเขียวของ กทม. และปลูกในพื้นที่สวนสาธารณะ อาทิ สวนจตุจักร สวนรถไฟ และอีกหลายพื้นที่ที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ กักฝุ่นและมลพิษ รวมทั้งยังเป็นการช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูก ให้ร่มเงา และเพิ่มความน่าอยู่ให้กับสังคมเมืองอีกด้วย