ปตท.เร่งเครื่องสู่ Net Zero 2040 เร็วกว่าเป้าประเทศ 15 ปี

16 ต.ค. 2565 | 09:40 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2565 | 16:56 น.

ปตท.เร่งความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2040 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศ 15 ปี ลุย 3 เสาหลัก ลดปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพ ลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ ปลูกป่า 2 ล้านไร่ ดักจับและกักเก็บคาร์บอน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่ม ปตท. PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET เพื่อร่วมกันกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์ และผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่ม ปตท. ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งสู่ Net Zero Emission

 

 ทั้งนี้ นำมาสู่การปรับเป้าหมายของ ปตท.ใหม่ โดยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 รวมทั้งบริษัทในกลุ่มได้กำหนดเป้าหมายของบริษัทตามทิศทางการดำเนินงานของแต่ละบริษัทครบทั้ง 6 บริษัทเช่นเดียวกัน ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ที่ได้กำหนดที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065

 

การจะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ปตท. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก หรือ 3P ประกอบด้วย 1. Pursuit of Lower Emissions ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายระยะสั้นในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 2020 เพื่อมุ่งไปสู่ Carbon Neutral ปี 2040 และ Net Zero ปี 2050

 

ด้วยการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ Fugitive Emission and leak control  ตรวจสอบและควบคุมการรั่วไหลของก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต Energy Efficiency ปรับปรุงกระบวนการผลิต อุปกรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น การก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 7 มาทดแทนโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 1 ที่กำลังจะหมดอายุลง ซึ่งจะมีประสิทธิภาพช่วยลดการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงโรงแยกก๊าซฯ หน่วยต่าง ๆ เป็นต้น

 

อรรถพล  ฤกษ์พิบูลย์

 

โครงการ Carbon Capture Utilization (CCU) นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงธุรกิจด้วยการนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดย ปตท. มีแผนเบื้องต้นในการดำเนินโครงการ CCU จำนวน 4 โครงการ คือ Sodium Bicarbonate, Animal Protein, Methanol และ Nano Calcium Carbonate ที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 0.35 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ภายในปี 2030

 

รวมถึงการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตและพื้นที่ปฏิบัติการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการเติมน้ำมันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Green Bunker)

 

ปตท.เร่งเครื่องสู่ Net Zero 2040 เร็วกว่าเป้าประเทศ 15 ปี

 

ที่สำคัญมีโครงการกักเก็บคาร์บอน Carbon capture andstorage (CCS) ที่ปตท.สผ. จะดำเนินการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้ฝั่งในภาคตะวันออกเป็นรายแรกของประเทศ โดยจะเริ่มดำเนินการ pilot project ที่แหล่งก๊าซฯ อาทิตย์ ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่แรกของประเทศไทย คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.0 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและมีกำหนดดำเนินการโครงการภายในช่วงปี 2027

 

รวมทั้งร่วมกันภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมกันศึกษา PTT Group CCS Hub Model โครงการสำรวจและดักจับ CO2 ภายในกลุ่ม ปตท. การขนส่ง CO2 เพื่อไปยังแหล่งกักเก็บใกล้พื้นที่ชายฝั่ง รวมถึงพัฒนาระเบียบที่เกี่ยวข้องและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีกำหนดดำเนินการโครงการภายในช่วงปี 2573

 

รวมถึงการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในกระบวนการผลิตและพื้นที่ปฏิบัติการทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการเติมน้ำมันเรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (Green Bunker)

 

 2.Portfolio Transformation : การลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ ตามที่ ปตท. ปรับวิสัยทัศน์ใหม่มุ่งไปสู่พลังงานแห่งอนาคต และธุรกิจที่นอกเหนือจากพลังงาน โดยปตท.ได้กำหนดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและธุรกิจใหม่ ไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณการลงทุน (CAPEX) ระหว่างปี 2021-2030 และเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable energy) ให้ได้ 12 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030 และการพัฒนาธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจยา ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธุรกิจ AI เป็นต้น

 

นอกจากจะช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศแล้ว การลงทุนเหล่านี้ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และเกิดการพัฒนาประเทศจากการนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อีกทางหนึ่งด้วย

 

 3.Partnership with Nature and Society : การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่าไม้ รวมถึงพื้นที่สีเขียวต่าง ๆ ทั่วประเทศร่วมกับภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ โดยปตท. กลุ่ม ปตท. ปตท. ที่จะปลูกป่าเพิ่มเติมอีก 1 ล้านไร่ และร่วมกับกลุ่ม ปตท.อีก เพิ่มเติมอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2530 ซึ่งจะช่วยดูซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี