“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

02 พ.ย. 2565 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 18:26 น.

"ศุภชัย"นำทีมซีพี ผนึกกำลังกลุ่มธุรกิจในเครือ-100 องค์กรเอกชนชั้นนำร่วมประกาศเจตนารมณ์ “เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน-ความหลากหลายทางชีวภาพ” มุ่งปกป้องระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม หวังดันเศรษฐกิจพร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายประเทศสู่ความยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงาน (2 พ.ย. 2565)  สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติ (UN) จัดงานการประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022  ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle  Climate & Biodiversity Challenges รวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จัดเสวนาพร้อมประกาศเจตนารมณ์รวมพลังภาคเอกชนเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความท้าทายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

 

“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงาน พร้อมด้วยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี นางสาวกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคเอกชนในสมาชิก GCNT กว่า 100 องค์กรและภาคต่าง ๆทั่วประเทศ โดยมีผู้นำจากภาครัฐ ประชาสังคม และภาคเอกชนชั้นนำจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

 

“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

 

ในการนี้ บริษัทและกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่าย GCNT ได้เข้าร่วมพิธีประกาศเจตนารมณ์ครั้งสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้เพื่อเดินหน้าร่วมมือหาแนวทางแก้ปัญหาและปกป้องระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรมที่มีการวัดผลและขยายผลได้ นำไปสู่การขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการแสดงความมุ่งมั่นของผู้นำทั่วโลกในงาน COP27 และ COP15 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ได้กล่าว แสดงความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริงของ GCNT ในการให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมที่ภาคธุรกิจจะต้องเป็นผู้นำและร่วมสนับสนุนภาครัฐในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ โดยในปีที่ผ่านมาสมาชิกสมาคมได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนประเทศไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน ค.ศ. 2070

 

“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

 

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาเครือข่าย GCNT ได้ร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจกไปแล้วอย่างน้อย 8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เปรียบเสมือนการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนไปกว่า 1.6 ล้านคัน โดยการเสวนาครั้งนี้ย้ำให้เห็นว่ายังมีวิกฤตทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกประการหนึ่งที่ท้าทายและร้ายแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นคือ  วิกฤตจากการถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่โลกกำลังเผชิญในปัจจุบันจะยิ่งซ้ำเติมผลกระทบจากภาวะโลกร้อยอาจนำไปสู่การแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ และอาจส่งผลให้ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์โลกทวีความรุนแรงขึ้น

 

“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

 

สำหรับ Climate Change และ Biodiversity Loss เป็นโจทย์ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญร่วมแก้ปัญหากับภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ เตรียมรับมือกับผลกระทบให้ทันท่วงทีและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสติ ความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาดังกล่าวควบคู่ไปกับการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า สร้างสรรค์ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และ SME

 

นอกจากนี้จำเป็นต้องอาศัยกลไกตลาดและกลไกทางการเงินที่มีประสิทธิผล ระดมทุนให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ พร้อมทั้งจัดทำรายงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและติดตามผลการดำเนินงาน ดังนั้นการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังถือเป็นความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ประเมินว่า หากเกิดการลงทุนเพื่อปกป้องฟื้นฟธรรมชาติ จะสามารถสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้ถึง 30 เท่า การนำแนวทางแก้ไขและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยกลไกธรรมชาติ เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ป่าชายเลนและระบบนิเวศชายฝั่งนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำไประเทศไทยไปถึงเป้าหมาย Net Zero

 

“ศุภชัย”นำทัพเครือซีพี ผนึก 100 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์เร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

 

ทั้งนี้ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานเอเปคและจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ  ภาคธุรกิจไทยในสมาชิก GCNT พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามแนวคิด BCG Model และตามแนวคิดของการจัดงานเอเปคครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยแสดงความเป็นผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด