เปิดโรดแมปเอ็กโก กรุ๊ป ลุยพลังงานสะอาด หนุนแผนพลังงานชาติ สู่ Carbon Neutral

02 ธ.ค. 2565 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2565 | 17:13 น.

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป จัดงานสัมมนาหัวข้อ “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้เพื่อร่วมระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐและเอกชนในการหาแนวทางลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวในงานสัมมนาว่า จากนโยบายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในปัจจุบัน จะต้องลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลงอย่างต่อเนื่องภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่ง 10 ประเทศอาเซียนได้กำหนดนโยบายลดคาร์บอนลง แต่ยังมีความเป็นห่วงว่าประเทศต่าง ๆ ยังคงต้องใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เส้นทางการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 40% ในปี ค.ศ. 2030 เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065 ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นอีกวิธีสำคัญในการผลักดันนโยบายนี้คือ การส่งเสริมให้ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

 

เวทีสัมมนา “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”

 

สำหรับประเทศไทย หากไม่ทำอะไรเลยและสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนปัจจุบันยังน้อยเพียง 23-24% ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุเป้าหมาย ในขณะที่หลายประเทศออกนโยบายพลังงานสีเขียว เช่น รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินถึง 2 ล้านล้านเยน เพื่อลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในระยะแรก ส่วนระยะต่อมาจะให้เอกชนดำเนินการเองเต็มรูปแบบด้านยุโรปให้เงิน 85,000 ล้านยูโร เพื่อปรับระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่ภาคขนส่งสีเขียว

 

นายกุลิศ  สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการเอ็กโก กรุ๊ป

 

ในขณะที่ประเทศไทยได้ปรับกรอบแผนพลังงานชาติ ปี ค.ศ.2022 โดยจะแล้วเสร็จปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า  ซึ่งกรอบหลักได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50% การปรับพลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานสีเขียว และมาตรการสนับสนุนการใช้รถอีวี โดยตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มาให้การช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายซื้ออีวีลงคันละ 2 แสนบาท เพื่อให้รถอีวีมีราคาเทียบเท่ารถสันดาป 

 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวในหัวข้อ Carbon Neutral Roadmap ว่า  ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานต้องปรับตัวจากแรงกดดัน 4D+1E คือ Digitalization การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว Decarbonization การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก Decentralization การกระจายศูนย์ของแหล่งผลิตพลังงาน Deregulation การปรับปรุงกฎระเบียบด้านต่าง ๆ และ Electrification ความนิยมใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น

 

นายเทพรัตน์  เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป

 

“เพื่อรับมือและเติบโตไปพร้อมกับความท้าทายดังกล่าว เอ็กโก กรุ๊ป จึงขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด “Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแบ่งเป้าหมายเป็น 2 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะกลาง การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ลง 10% ภายในปี ค.ศ. 2030 ในขณะที่เป้าหมายระยะยาว คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050”

 

สำหรับโรดแมป เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการขยายพอร์ตโฟลิโอธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดทั้งในไทยและต่างประเทศ จนปัจจุบันมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,424 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 22% จากกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,377 เมกะวัตต์ เช่น ในปี 2564 เอ็กโก กรุ๊ป ได้ลงทุนใน “เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง” (APEX) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นฐานในการต่อยอดการลงทุนในโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดอื่น ๆ ในอนาคต และบริษัทมีแผนที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานด้วย

 

ขณะเดียวกัน เอ็กโก กรุ๊ป มีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่ถือหุ้นอยู่ เช่น การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน รวมถึงการศึกษาและพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor - SMR) ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีเสถียรภาพ และราคาเริ่มเแข่งขันได้

 

 อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องซื้อเทคโนโลยี จึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย รวมถึงอยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งมีเสถียรภาพ ราคาแข่งขันได้ และตอบโจทย์ความเป็นกลางทางคาร์บอนในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เพิ่มเติม นอกเหนือจากการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 50%

 

นายจิรวัฒน์  ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในฐานะผู้กำหนดทิศทางและให้ข้อเสนอแนะเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยดูเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกด้าน และมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มองว่าการแก้ปัญหาต้องวางแผนระยะยาว ทั้งการปรับตัวและการลด ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage - CCS) และเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilisation and Storage - CCUS) หรือ ไฮโดรเจน ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง

 

แต่ประเด็นตรงนี้ คือ ความยาก จะต้องพิจารณาทั้งมิติความคุ้มค่าและมิติด้านเวลา ที่จะนำเข้าเทคโนโลยีให้เกิดความคุ้มค่า ซึ่งมีการวางโรดแมปไว้ทั้งหมด เพื่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 นั่นคือ 74% ของการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียน และยุติการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า และเดินหน้า Net Zero ในปี ค.ศ. 2065

 

“การนำเข้าเทคโนโลยีในระยะแรก อาจจะเน้นในเรื่องของการประยุกต์ใช้ก่อน เพราะความคุ้มค่าอาจจะยังไม่คุ้ม ต้องปรับตัวเราเอง เช่น เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากสีเขียวเบอร์ 5”

 

นายเกียรติชาย  ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

 

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. กล่าวว่า มีการประเมินว่าการปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 และจะค่อย ๆ ลดลง หากมาตรการต่าง ๆ สัมฤทธิ์ผล จนปี ค.ศ. 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ ซึ่งอาจจะต้องมีตัวช่วย คือ เทคโนโลยีที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยเทคโนโลยี CCS หรือระบบ CCUS

 

ภาคที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด คือ ภาคพลังงานไฟฟ้า หากจะทำให้สำเร็จจะต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% และในภาคการขนส่งต้องใช้รถอีวี  70% รวมถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องเข้ามาแน่ รวมทั้งต้องมีเทคโนโลยี CCS และ CCUS มาช่วยด้วย

 

รวมถึงต้องมีมาตรการต่าง ๆ มาช่วยผลักดันหรือกระตุ้น เช่น ในต่างประเทศมี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยคาร์บอนต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเอง แม้ประเทศไทยยังไม่มีเรื่องนี้โดยตรง แต่อยู่ระหว่างทำ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีหน่วยงานระดับกรมแห่งใหม่เข้ามารองรับ

 

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

นายพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมหาศาล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเป้าหมายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศหรือให้สัญญาไว้

 

ภาคธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปสู่ภาคธุรกิจที่จะลงทุนในโครงการสีเขียวต่าง ๆ โดยจากคาดการณ์พบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022-2050 จะเกิดช่องว่างทางการเงินของภาคขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม และการเกษตร ที่ต้องการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ประมาณปีละ 2 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น ภาคการเงินจะมีบทบาทช่วยผลักดันภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาพรวมของประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดยังถือเป็นเรื่องใหม่ จึงเป็นข้อจำกัดของภาคธนาคาร ประเทศไทยจึงกำลังจัดประเภทกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ว่าเป็นประเภทสีเขียว สีส้ม หรือสีแดง และแต่ละกลุ่มต้องมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งภาคธนาคารจะใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์เพื่อช่วยสนับสนุนเม็ดเงินไปสู่กิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero

 

วิทยากรจากงานสัมมนาเอ็กโก ร่วมถ่ายภาพที่ระลึก

 

ในขณะที่ นายเพลิงเทพ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวใน Session สุดท้ายของงานสัมมนาว่า “ปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ ภาคอุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้า โดยธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 40% (อ้างอิงจาก WBCSD สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าล้วนมาจากถ่านหิน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็คาดหวังว่าในเวที COP27 จะทำให้ภาครัฐออกกฎระเบียบและเพิ่มความเข้มข้นในส่วนนี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและ "เปลี่ยนผ่าน" ไปสู่พลังงานสะอาด โดยตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดคือ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิล”

 

วิธีการสำคัญของเป้าหมาย Carbon Neutral คือ "เทคโนโลยี" โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยี 2 กลุ่มที่จะเป็น "สปอตไลท์" คือ 1) CCS : Carbon Capture and Storage เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน และ 2) พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) กับอีกวิธีคือการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ (Natural Capital Solution) อีก 8 ปีข้างหน้า หรือปี ค.ศ. 2030 ความคุ้มทุนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด economy of scale ได้ และคนเข้าถึงได้มากขึ้น

 

“เทคโนโลยีจะกลายเป็น business of opportunity เพราะเป้าหมาย Carbon Neutral หนีไม่พ้น CCS หรือ CCUS หมายความว่าอีก 8 ถึง 20 ปีข้างหน้า ทุกคนต้องการทางเลือกนี้หมด และอาจกลายเป็นรายได้ของภาครัฐหรือธุรกิจพลังงาน ซึ่งเทคโนโลยีต้องการความร่วมมือและการช่วยเหลือกันทุกภาคส่วน” นายเพลิงเทพ กล่าวทิ้งท้าย